ม.หอการค้าไทยหวั่นโอมิครอนระบาดรุนแรงกดส่งออกไทยขยายตัวเพียง 0.2% เกาะติดนโยบายการเปิด-ปิดประเทศคู่ค้า -ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคบังคับใช้ 1 ม.ค.65
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2565 ภายใต้ปัจจัยบวก ปัจจัยลบและปัจจัยที่ต้องติดตามต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือกรณีถ้า OMICRON ระบาดในโลกไม่รุนแรง ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 275,074ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (270,952 – 279,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือขยายตัว 4.8% (3.2% ถึง 6.3%)
กรณีถ้า OMICRON ระบาดในโลกอย่างรุนแรง ประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 262,991ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (259,050 – 266,822 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือขยายตัว 0.2%(-1.3% ถึง 1.6%) ซึ่งมีปัจจัยบวก ปัจจัยลบและปัจจัยที่ต้องติดตามที่สำคัญดังนี้
ปัจจัยบวกต่อการส่งออกที่สำคัญคือ
- เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้ายังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
- เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
- หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น
- แนวโน้มความต้องการสินค้าสุขภาพและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่มากขึ้น
ปัจจัยลบต่อการส่งออกที่สำคัญคือ
- การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศจากสายพันธุ์ OMICRON
- ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ที่ลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค
- นโยบาย ZERO COVID ของจีน
- ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางสูง
- ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น
- ปัญหาการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (SUPPLY CHAIN DISRUPTION
ประเด็นที่ต้องติดตาม
- ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565
- รถไฟลาว-จีน
- นโยบายการเปิด/ปิดประเทศของประเทศคู่ค้าหรือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่อาจเข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้า
- สงครามการค้า เทคโนโลยี ค่าเงินระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ
- ภาษีคาร์บอนตลาดยุโรปในปี 2566