ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังดอลลาร์อ่อนตลาดเปิดรับความเสี่ยง หลังยอดผู้ป่วยหนักเสียชีวิตในหลายประเทศทรงตัวสวนทางผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น ระวัง ! ตลาดผันผวนจากธุรกรรมที่เบาบางปลายปี
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.765 บาทต่อดอลลาร์หลังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า
ความหวังของผู้เล่นในตลาดการเงินที่มองว่า แม้โอมิครอนจะระบาดได้ดีกว่า COVID-19 สายพันธุ์อื่นๆ แต่อาจมีความรุนแรงไม่มาก อีกทั้งการเร่งแจกจ่ายวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนบูสเตอร์อาจช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ ดังจะเห็นได้จากยอดผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตในหลายประเทศที่ทรงตัว สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Nasdaq ปิดตลาด +1.18% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้น +1.02% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) เดือนธันวาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 115.8 จุด
เช่นเดียวกันกับฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้นราว +1.01% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical/Reopening theme รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อ อาทิ Airbus +4.0%, Adyen +3.2%, Louis Vuitton +2.0%, ASML +2.0%
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง แต่โฟลว์การทำธุรกรรมของผู้เล่นในตลาดเริ่มเบาบางลงเนื่องจากใกล้ช่วงวันหยุดคริสต์มาส ทำให้บอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ ยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.46%
ซึ่งเราคงมองว่า หากตลาดการเงินกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังช่วงเทศกาลคริสต์มาสและวันหยุดสิ้นปี บอนด์ยีลด์ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกและภาพของตลาดที่จะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการระบาดของโอมิครอน
ในฝั่งตลาดค่าเงินนั้นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างเงินดอลลาร์ลง ซึ่งล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 96.08 จุด
ทั้งนี้การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,805 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง แต่เราคงมองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อแรงได้ยาก และ Upsides ของราคาทองคำเริ่มจำกัด
สำหรับวันนี้ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสต่อ หนุนโดยการบริโภคภาคเอกชนที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ยอดใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) เดือนพฤศจิกายนที่จะขยายตัวราว +0.6% จากเดือนก่อนหน้า
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของคนอเมริกันยังจะได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) ในเดือนธันวาคม ที่ล่าสุดออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจกดดันการบริโภคในระยะสั้นได้ ซึ่งตลาดก็มองว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนพฤศจิกายน ก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 5.4% ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จากปัญหาด้าน Supply Chain ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เฟดปรับท่าทีพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
ส่วนในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่ายอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤศจิกายน มีแนวโน้มที่จะโตกว่า +17.5%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) อาจโตขึ้นกว่า +23.0%y/y กดดันให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเล็กน้อย ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าเล็กน้อยอาจไม่ได้กดดันเงินบาทมากนัก
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและแกว่งตัว Sideways ในระยะสั้นนี้ อย่างไรก็ดียังคงต้องจับตาแรงขายสินทรัพย์ไทยจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้น เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็เริ่มจำกัดลง และมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ของราคาทองคำ (ลุ้นโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท)
อนึ่ง เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ธุรกรรมในช่วงปลายปีอาจเริ่มเบาบางลง ทำให้ตลาดค่าเงินอาจมีความผันผวนสูงได้ หากมีโฟลว์ธุรกรรมขนาดใหญ่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นฝั่งซื้อหรือขายเงินดอลลาร์มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.75 บาทต่อดอลลาร์