ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหวั่นโควิดโอมิครอนฉุดกำไรระบบแบงก์ปี 65 คาดแตะ 1.86 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่แตะระดับ 2 แสนล้านบาท ชี้สินเชื่อดิจิทัลแข่งดุสร้างสีสันในตลาด
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธ.พ. ไทย) ในปี 2565 จะอยู่ที่ราว 1.86 แสนล้านบาทในปี 2565 ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2.00 แสนล้านบาทต่อปี โดยสินเชื่อระบบธ.พ. ไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตในกรอบที่ชะลอลงเล็กน้อยมาที่ 4.0-5.5% จากที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 2564 ที่ 6.0% แต่การเติบโตของสินเชื่อจะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยปกติมากขึ้น
ทั้งนี้เป็นผลาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 กลับมาอีกครั้งในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2564 เข้าสู่ปี 2565 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีนัยต่อเนื่องมายังการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 2565
ส่วนคุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่า สัดส่วน NPLs ในปี 2565 จะขยับขึ้นไปที่กรอบ 3.20-3.50% ต่อสินเชื่อรวม แม้ว่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท.
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามระดับความเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด โดยหากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าช่วงต้นปี 2565 ก็คงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังรายได้จากธุรกิจหลัก และภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นในปี 2565 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง และต้องเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม สินเชื่อดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 ขึ้นกับความสำเร็จในการล้อมกรอบการระบาดของโอมิครอน
สำหรับสีสันของตลาดสินเชื่อรายย่อยในปี 2565 ส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล หรือ Digital P-loan โดย ณ ขณะนี้ มีสถาบันการเงินและนอนแบงก์ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ในปัจจุบันได้รับอนุญาตให้สามารถปล่อยสินเชื่อ Digital P-loan แล้ว 7 ราย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข่งขันของ Digital P-loan เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดน่าจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ โดยคาดว่า ยอดคงค้างของ Digital P-loan มีโอกาสเติบโตขึ้นแตะระดับสูงกว่า 10,000 ล้านบาทได้ในปี 2565 จากยอดคงค้างที่ 2,087 ล้านบาทในเดือนต.ค. 2564