วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นหนุนส่งออกปีเสือโต 5%สูงสุดรอบ 10 ปี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นหนุนส่งออกปีเสือโต 5%สูงสุดรอบ 10 ปี

วิจัยกรุงศรีคาดจีดีพีปีเสือโต 3.7% หลังเปิดประเทศ ส่งออกโต 5% สูงสุดในรอบ 10 ปี แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากขึ้น จับตาความเสี่ยงการเมืองในประเทศ

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) แจ้งว่า คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.7% จากปี 2564 ที่เติบโตเพียง 1.2% และมีแนวโน้มที่มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนที่ช่วยหนุนให้ไทยและหลายๆ ประเทศสามารถเปิดประเทศได้กว้างขวางขึ้น

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและผลเชิงบวกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง การปรับตัวของภาคธุรกิจอาจนำไปสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีทิศทางปรับดีขึ้นแต่ยังคงเป็นระยะแรกของการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากวิกฤตการระบาดที่ลากยาว รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและประเด็นท้าทายที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นแต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่าง โดยคาดว่าในปี 2565 จะเติบโตราว 3.6% จากการปรับดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม

การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับและมาตรการภาครัฐที่อาจเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัดเนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน และคาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมในปี 2565 แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด

นอกจากนี้การฟื้นตัวที่ยังไม่กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกสาขา และทุกกลุ่มรายได้ จึงคาดว่าจะส่งผลต่อค่าจ้างและการใช้จ่ายของแรงงานในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ส่วนภาคส่งออกแม้จะชะลอลงบ้างแต่คาดว่ายังเติบโตได้ 5 % ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ขยายตัว 2.9% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางมากขึ้น กอปรกับผลบวกจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2565 น่าจะมีส่วนเสริมภาคการค้าในระยะถัดไป

จากผลการศึกษาของ ADB ประเมินว่า RCEP จะช่วยหนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 4.9% ภายในปี 2573 ซึ่งแม้เป็นรองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แต่สูงสุดเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน

ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นเป็น 4.6% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยหนุนให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุน อีกทั้งยังมีการขยายการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal)

นอกจากนี้การก้าวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงบวกจากเงินลงทุนสุทธิโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าทั้งปี 2562 (ช่วงก่อนเกิดการระบาด)

อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะมีรูปแบบเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เป็นส่วนมาก (มีสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในช่วงปี 2565-2569)

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มลดลงจากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 แต่ยังมีวงเงินกู้ที่เหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนของภาคท่องเที่ยวยังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว โดยคาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปแม้ทางการไทยจะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยังมีข้อจำกัดท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เป็นผลให้หลายประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยยังคงมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

ทั้งนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 7.5 ล้านคน และกว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ที่ 40 ล้านคน อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2568 ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศคาดว่าจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้เร็วกว่าคือในปี 2567 ที่ 160 ล้านทริป จากปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านทริป

สำหรับผลพวงของวิกฤต COVID-19 ที่ระบาดยาวนาน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นชั่วคราวโดยมีแนวโน้มอาจเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 1/2565 จากผลของฐานที่ต่ำและการส่งผ่านของต้นทุน

แต่คาดว่าจะชะลอลงและกลับมาแตะระดับใกล้ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการที่ 1% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงตามการปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน

ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง จึงคาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพ

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อาทิ ความไม่แน่นอนของการระบาดของไวรัส COVID-19 จากการกลายพันธุ์กระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ความเปราะบางของตลาดแรงงานและปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ผลข้างเคียงจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของประเทศแกนหลักทำให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนและตลาดการเงิน

ภาวะข้อจำกัดด้านอุปทานโลกที่อาจเป็นปัญหายืดเยื้อไปอีกระยะซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img