คปภ. เผย 5 อันดับความเสี่ยงที่มีผลต่อธุรกิจประกันภัยชีวิต-วินาศภัย มั่นใจ 3 ปีข้างหน้าธุรกิจมีเสถียรภาพรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไม่มีปัญหา
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า คปภ. ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจประกันภัยไทยเกี่ยวกับความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยไทย ประจำปี 2564 เพื่อประกอบการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยให้ครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำผลสำรวจดังกล่าวมาเป็นข้อมูลความเสี่ยงประกอบการกำหนดสถานการณ์จำลอง ในการจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจประกันชีวิต และกลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย
สำหรับความเสี่ยงที่มีผลต่อธุรกิจประกันชีวิต 5 อันดับแรก 1.อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิ การโจมตีไซเบอร์ 3.โรคระบาดหรือติดเชื้อ เช่น โควิด 4.ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก/การชะงักงันทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการยากที่สุด และ 5.ความเสี่ยงจาก Disruptive Technology อาทิ Cryptocurrency, AI และ Big Data
ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยความเสี่ยง 5 อันดับแรกคือ 1.โรคระบาดหรือติดเชื้อ เช่น โควิด บริหารจัดการยากที่สุด 2.ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เช่น การโจมตีไซเบอร์ 3.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก/การชะงักงันทางเศรษฐกิจ 4.สภาพการแข่งขันในตลาดประกันภัยที่รุนแรง และ 5.ความเสี่ยงจาก Disruptive Technology อาทิ Cryptocurrency, AI, Big Data และภัยธรรมชาติ/ภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตาม มุมมองต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยในระยะข้างหน้า ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย ส่วนใหญ่ประเมินว่ามีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ถึง “สูง” ทั้งในระยะสั้น 1 ปีข้างหน้า และระยะปานกลาง 1-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงในระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 1 ปีที่ผ่านมา
ส่วนภาพรวมทั้ง 2 ธุรกิจยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ตอบ “ค่อนข้างมั่นใจ” เกิน 50% ของจำนวนผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
“จากผลสำรวจ Risk Survey ครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยทราบความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจประกันภัยไทย สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าระบบประกันภัยยังมีความพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนได้”