“อดีตรมว.พาณิชย์” ชี้ของแพง ค่าแรงต่ำเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แนะต้องแก้ทั้งโครงสร้าง และอะไรที่รัฐบาลช่วยพยุงราคาได้ต้องทำ
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.65 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ของแพง ค่าแรงต่ำ เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ปากท้องประชาชนเรื่องใหญ่ ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง
ช่วงนี้ต้องบอกว่าผมเห็นใจพี่น้องทุกท่านจริง ๆ ครับ เรากำลังเผชิญภาวะของหลายอย่างแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราไม่เจออะไรแบบนี้มานานมากแล้วครับ โดยเฉพาะการขึ้นราคาสินค้าหลายตัวพร้อม ๆ กัน ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปีที่แล้วเราเจอน้ำมันแพงที่ทำให้ราคาค่าขนส่งสินค้าแพงขึ้น ซึ่งแน่นอนครับ ราคาสินค้าหลายตัวก็แอบขยับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอยู่ที่ว่าเราจะรู้สึกตัวมากน้อยแค่ไหน
แต่รอบล่าสุดนี้เป็นเรื่องปากท้องโดยตรง อย่างราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผมคิดว่าทุกท่านคงรู้สึกกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะยากดีมีจน เพราะไม่ว่าจะไปซื้อหมูสดมาทำอาหารเอง หรือรับประทานอาหารตามสั่ง ราคาก็ต่างปรับขึ้นหมด ไม่มีเว้นเลยครับ
และไม่ใช่แค่หมูเท่านั้นที่แพงขึ้นครับ แต่ดูเหมือนราคาอาหารอื่น ๆ จะปรับราคาตามไปด้วยหมดเลย ซึ่งอันนี้ต้องบอกเลยครับว่าซ้ำเติมประชาชนอย่างยิ่ง และหน่วยงานภาครัฐควรขยับให้มากกว่านี้ครับ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
วันก่อนผมได้อ่านข่าวว่ากระทรวงพลังงานจะกลับมาพยุงราคาก๊าซหุงต้มต่ออีกสองเดือนก็รู้สึกดีครับ แต่ผมคิดว่าควรตรึงไปจนกว่าสถานการณ์ราคาสินค้าต่าง ๆ จะเข้ารูปเข้ารอยมากกว่านี้ หรือสถานการณ์การระบาดฟื้นตัวได้มากกว่านี้ครับ
ราคาก๊าซหุงต้ม ต่างจากราคาหมู ราคาไก่ เพราะรัฐดูแลและควบคุมได้ระดับนึงเลยครับ เราสามารถหาเงินมาอุดหนุนและช่วยเหลือประชาชนไปพลางก่อนได้ครับ
ผมคิดว่าเราควรมองภาพใหญ่ว่าประชาชนจำนวนมากจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ครับ ถึงแม้ว่าเราจะต้องกู้เงินมาใช้ในการพยุงราคาก๊าซหุงต้มตรงนี้ แต่ก็ทำให้ประชาชนเหลือเงินไปใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น
ประชาชนทุกวันนี้เจอปัญหาเรื่องรายได้มาอย่างยาวนานครับ นับตั้งแต่เราเผชิญกับโควิด-19 นอกจากเงินในกระเป๋าจะไม่เพิ่มแล้ว หลายคนรายได้ยังหดหายไปอย่างมากครับ ฉะนั้นตรงไหนที่รัฐบาลช่วยพยุงค่าครองชีพได้ก็ควรทำครับ เพราะนี่คือหน้าที่หลักของรัฐบาล
วันนี้ข้าวของแพง ความเป็นอยู่ของประชาชนยากลำบาก ซ้ำเติมวิกฤตที่เป็นอยู่ เราเป็นห่วงเรื่องนี้มากว่า เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังพินาศ ถลำลึกในระยะยาวจนยากจะฟื้น แต่พวกเราระดมสมองกันทุกวัน เห็นว่า ยังมีทางแก้ ทางออก โครงสร้างเรื่องนี้ต้องปรับ และร่วมมือกันทุกส่วน ซึ่งเราเตรียมไว้แล้วครับ