วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightวิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย คาดฉุด“บาทอ่อน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย คาดฉุด“บาทอ่อน”

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง ตลาดกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% มากกว่าคาดเดือนมี.ค.นี้ หลังเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น กดหุ้นกลุ่ม Tech-หุ้น Growth ที่มีความอ่อนไหวกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนัก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.12 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.09 บาทต่อดอลลาร์

แม้ว่าตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯจะกลับมาเปิดทำการตามปกติ แต่ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มมีความกังวลว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงไปมากนั้น อาจทำให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 50bps ในเดือนมีนาคม ซึ่งมากกว่าการขึ้นดอกเบี้ยปกติเพียง 25bps ต่อครั้ง

ซึ่งแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์และรับรู้ไปแล้วนั้น ได้กดดันให้ สินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Tech และ หุ้นสไตล์ Growth ที่มีความอ่อนไหวกับนโยบายการเงินที่เข้มงวด ต่างปรับตัวลงอย่างหนัก ดังจะเห็นได้จากดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.60% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลงกว่า -1.83% ในขณะที่ดัชนี Dowjones ซึ่งมีหุ้น Tech/Growth น้อยกว่า ปรับตัวลง -1.51%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาย่อตัวลงราว +0.70% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นกัน นำโดย Infineon Tech. -2.8%, ASML -2.3%, Adyen -1.4%  ทั้งนี้ เรามองว่า การย่อตัวลงของตลาดหุ้นยุโรปจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทยอยสะสมการลงทุนได้ เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีหลังการระบาดโอมิครอนเริ่มสงบลง ขณะเดียวกันนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายกว่าเฟด 

ทั้งนี้ แม้ว่าเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดไปแล้วพอสมควร แต่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังกังวลการขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าปกติของเฟดอยู่ ทำให้เหลือปัจจัยด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อาจจะพอช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้ หากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าคาด

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กังวลว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 50bps ในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนั้น ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้น เกือบ 10bps สู่ระดับ 1.88% พร้อมกันนั้น การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลกต่างปรับตัวขึ้นราว 4-10bps เช่นกัน ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินหลายประเทศมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานเช่นกันในวันนี้ 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน รวมถึงแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.73 จุด 

โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่ย่อตัวลงแตะระดับ 1.132 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงเล็กน้อยแตะระดับ 114.6 เยนต่อดอลลาร์ เพราะถึงมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 

แต่ทว่าเงินเยนยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ ทำให้เงินเยนไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินเยนยังคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ที่ยังสามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,813 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ตาม เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนก็เข้ามาถือทองคำเพื่อหลบความผันผวนในตลาด

สำหรับวันนี้ตลาดจะจับตารายงานเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ โดยตลาดคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมจะปรับตัวขึ้นแตะ 5.2% ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม หากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การจ้างงาน ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในอังกฤษน่าจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากผลกำไรยังสามารถขยายตัวได้ดีและออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ก็จะสามารถช่วยหนุนให้ตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 33  บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าจากความกังวลเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เยอะกว่าที่คาดในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่อาจกดดันเงินบาทได้บ้าง 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากความหวังการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อ ก็อาจเริ่มมีแรงขายทำกำไรกลับเข้ามา ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้ 

ทั้งนี้เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้   มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.20 บาทต่อดอลลาร์ 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img