วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เงินบาท”กลับทิศอ่อนค่า รับข่าว“เฟด” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาท”กลับทิศอ่อนค่า รับข่าว“เฟด” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.15 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังผลประชุมเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งสกัดเงินเฟ้อ หนุนเงินดอลลาร์แข็งค่า-บอนด์ยีลด์พุ่ง เกาะติดความตึงเครียดรัสเซียและยูเครน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.15 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.96 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบสัปดาห์ หลังจากเฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0 -0.25% และส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมตามที่ตลาดคาดไว้ หลังเฟดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนบ้าง แต่ก็ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักในช่วงการแถลงของประธานเฟด หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดอาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้ง มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4 ครั้ง หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังพุ่งสูงขึ้นหรืออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด 

นอกจากนี้ มุมมองดังกล่างของประธานเฟดยังได้หนุนโอกาสที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% ในแต่ละครั้งอีกด้วย สะท้อนผ่าน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.30% ในการประชุมเดือนมีนาคม (มีโอกาส 20% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50%) 

แนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดคาด เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้น ได้กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงเทขายในช่วงท้ายตลาด ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเพียง +0.02% จากที่ตอนแรกปรับตัวขึ้นกว่า +3% ส่วนดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.15% เช่นกัน แม้ว่าจะปรับตัวขึ้นเกือบ +2% ในช่วงก่อนการประชุมเฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมาได้ราว +2.1% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงินและพลังงาน รวมถึงการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Airbus +5.4%, Adyen +4.9%, Total Energies +4.0%, Santander +3.7% 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรปนั้น เกิดขึ้นก่อนช่วงตลาดการเงินพลิกกลับมากังวลโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันดังกล่าวในวันนี้ นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงคราม อาจยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนต่อได้ 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ บอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นราว 14bps แตะระดับ 1.16% ส่วน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 8bps สู่ระดับ 1.85% 

ทั้งนี้มองว่าในระยะสั้นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่คอยกดดันให้บอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ระยะยาวยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปมากได้ จนกว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะคลี่คลายลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะยีลด์ขึ้น เพื่อ buy on dip บอนด์ระยะยาว

ขณะที่ตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.48 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้น ได้กดดันราคาทองคำ เผชิญแรงขายและปรับตัวลงแตะระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ผลการประชุมเฟดล่าสุดไปแล้ว โดยหากผลประกอบการสามารถขยายตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจพอช่วยพยุง sentiment ของตลาดได้บ้าง 

นอกจากนี้ เรามองว่าควรติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่ โดย เรามองว่าตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงหนักในระยะสั้น หากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนตามที่ตลาดกังวล ทว่า สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินดอลลาร์ ทองคำ รวมถึงบอนด์ระยะยาว อาจปรับตัวขึ้นได้ดี เช่นเดียวกันกับ ราคาสินค้าพลังงาน อาทิ น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทผันผวนและอาจอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากท่าทีของเฟดที่อาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด อย่างไรก็ดี  เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดบางส่วนโดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเดินหน้าขายทำกำไรตลาดหุ้นไทย หรือเข้าซื้อสุทธิต่อ หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นและอาจหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นตาม  นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นโฟลว์ขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ใกล้ระดับ 1,820-1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวอาจพอช่วยหนุนเงินบาทในฝั่งแข็งค่าได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.25 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img