วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightสรรพากรชงแก้กม.หักภาษี ณ ที่จ่าย “คริปโต” โยน“เอ็กซ์เชนจ์”ดำเนินการ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สรรพากรชงแก้กม.หักภาษี ณ ที่จ่าย “คริปโต” โยน“เอ็กซ์เชนจ์”ดำเนินการ

“สรรพากร” วางแผนลดขั้นตอนยุ่งยากของปชช.-นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เล็งแก้กฏหมายหักภาษี ณ ที่จ่าย เปลี่ยนให้เอ็กซ์เชนจ์ดำเนินการ ระบุหากเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีขอคืนภาษีได้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “คริปโตเคอร์เรนซี” ว่า ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมฯได้ร่วมหารือกับสมาคมดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยกรมสรรพากรได้ออกร่างแนวทางการผ่อนปรนจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลไปแล้ว และในอนาคตจะเสนอแก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อลดความยุ่งยากของประชาชนและนักลงทุนเกี่ยวกับภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเปลี่ยนให้เอ็กซ์เชนจ์ หรือผู้ประกอบการตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นผู้หักภาษี และนำส่งกรมสรรพากร นอกจากนี้ เปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์

“การแก้ไขกฎหมายอยู่นอกเหนืออำนาจของกรมสรรพากรที่จะดำเนินการ ดังนั้น มาตรการที่ดำเนินการได้ในตอนนี้คือ การผ่อนปรนภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเอ็กซ์เชนจ์ ที่อยู่ในการกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย”นายเอกนิติ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ที่เกี่ยวข้องกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย นั้น ระบุให้ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) ให้คำนวณหักในอัตรา 15% ของเงินได้ โดยเงินได้จากคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลถูกรวมอยู่ในมาตรานี้ ซึ่งอัตราการเก็บจัดภาษีดังกล่าวทำให้ประชาชนและนักลงทุนหลายคนไม่พอใจ โดยมองว่าเป็นอัตราภาษีที่สูงเกินไปและมีความยุ่งยาก เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย

ทั้งนี้เห็นว่าการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นภาษีสุดท้าย หากประชาชนและนักลงทุนมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามารถยื่นแบบผ่านกรมสรรพากรเพื่อขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไปได้ ส่วนผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ เช่น สงเคราะห์บิดา-มารดา-คู่สมรส-บุตร, ค่าลดหย่อนส่วนตัว, เบี้ยประกันชีวิต-สุขภาพ ดังนั้น การกล่าวว่าเสียภาษีคริปโตฯ 15% เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าแนวทางการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทางสรรพากรประกาศออกมา ในภาพรวมถือว่าเป็นผลบวกกับผู้ประกอบการและนักลงทุน เนื่องจากสรรพากรได้ตอบรับทุกข้อที่กลุ่มธุรกิจดิจิทัลยื่นข้อเสนอไปและมองว่าการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในธุรกิจดิจิทัลมากขึ้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าได้ถูกต้อง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img