“พาณิชย์” สั่งติดตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค หลังต้นทุนพุ่ง ขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาสินค้าบรรเทาความเดือนร้อนประชาชน
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าแก้ไขปัญหาและดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (วอร์รูม) ว่า ได้มอบหมายให้ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ซอสปรุงรส เครื่องใช้ไฟฟ้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ และสินค้าเกษตรสำคัญ รวมถึงติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปรับขึ้น-ลง ของราคาสินค้า เช่น ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตสินค้าระบุว่าจะสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกเพียง 1-2 เดือน เนื่องจากต้นทุนปรับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาพลังงานนั้นเห็นว่า ราคาพลังงานเป็นต้นทุนเพียงส่วนหนึ่งของสินค้า แต่ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด ซึ่งจากการที่กรมการค้าภายใน ได้วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนราคาสินค้าจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น พบว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้ามาก-น้อยต่างกันไปในแต่ละสินค้า โดยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งรัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท
ทั้งนี้กระทรวงฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าให้ตรึงราคาต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือประชาชน และยืนยันว่า ไม่ได้คุมราคาเฉพาะปลายทางสู่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ได้ตรึงราคาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เช่น สินค้าปศุสัตว์ ก็ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ตรึงราคาขายด้วย เพื่อไม่ให้สินค้าเนื้อสัตว์เมื่อถึงมือผู้บริโภคมีราคาสูงเกินไป และกำลังเตรียมจัดขายสินค้าราคาประหยัดตรงถึงผู้บริโภคด้วย
สำหรับในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สินค้าที่เฝ้าระวัง มีราคาทรงตัวและบางชนิดลดลง โดยเฉพาะเนื้อหมู ล่าสุด หมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่ง ในห้างค้าปลีกค้าส่ง กก. ละ 164-170 บาท หรือเฉลี่ยทั่วประเทศกก.ละ 175 บาท จากวันที่ 30 ม.ค.65 ราคาเฉลี่ยกก.ละ 187 บาท ส่วนเนื้อไก่ ราคาทรงตัว โดยในห้าง เนื้อน่องติดสะโพก กก.ละ 65 บาท ตลาดสด กก.ละ 70-75 บาท สำหรับน้ำมันปาล์มขวด ราคามีแนวโน้มลดลง แต่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องอีก 2 สัปดาห์ โดยราคาที่สำรวจจากร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ขวดละ 64-65 บาทต่อลิตร และในห้างขวดละ 61-62 บาท
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการจัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยในกรุงเทพฯ ได้ตรวจสอบตลาดสด 103 แห่ง ห้างค้าส่งค้าปลีก 101 แห่ง และในต่างจังหวัดตรวจสอบทั้งตลาดสด และห้างเช่นเดียวกัน โดยรายที่พบการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่ปิดป้ายแสดงราคา ขายเกินราคา ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
สำหรับผลการตรวจสอบสต็อกของห้องเย็นและโรงเชือด ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่กำหนดให้การเก็บเนื้อสุกรตั้งแต่ 5,000 กก.ขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณการเก็บทุกสัปดาห์ โดยข้อมูลจากกรมปศุสัตว์มีห้องเย็น โรงเชือด 511 ราย ที่มีปริมาณเก็บเกิน มีผู้แจ้งจริง 404 รายเท่านั้น แต่กระทรวงได้ตรวจทุกแห่ง ทั้งที่เก็บเกิน และไม่เกิน รวมทั้งสิ้น 616 ราย มีเนื้อหมูรวม 19.5 ล้าน กก.
จากการตรวจสอบทั้ง 616 ราย พบการกระทำผิด ไม่แจ้งปริมาณตามที่กฎหมายกำหนด และทำห้องเย็นฝากเก็บสินค้าโดยไม่ขออนุญาต ผิดพ.ร.บ.คลังสินค้า ไซโลและห้องเย็น รวม 12 ราย ได้ส่งฟ้องและมีคำพิพากษาแล้ว 3 ราย คือ 1.ไม่แจ้งข้อมูลตามประกาศ กกร. 1 ราย ศาลสั่งปรับ 10,000 บาท 2.ไม่แจ้งข้อมูล ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 500 บาท รวม 13 วัน มีโทษจำคุกด้วย แต่รอลงอาญา 1 ปี และ 3.ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 500 บาท รวม 10 วัน ส่วนที่เหลืออีก 9 ราย อยู่ระหว่างดำเนินคดีและส่งฟ้อง