วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“กรมการค้าภายใน”เบรกขึ้นราคาสินค้า ย้ำ“ดีเซล”กระทบต้นทุนผลิตเล็กน้อย!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กรมการค้าภายใน”เบรกขึ้นราคาสินค้า ย้ำ“ดีเซล”กระทบต้นทุนผลิตเล็กน้อย!!

“กรมการค้าภายใน” วิเคราะห์ราคาน้ำดีเซลปรับขึ้นจาก 25 บาทต่อลิตรเป็น 30 บาทต่อลิตร กระทบราคาสินค้าเพียงเล็กน้อย ชี้ผู้ผลิตไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคาสินค้า

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า  หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์  ได้ให้กรมฯ วิเคราะห์ผลกระทบต้นทุนน้ำมันดีเซลต่อต้นทุนการผลิตสินค้านั้น หากราคาน้ำมันดีเซลจาก  25 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 30 บาทต่อลิตร  จะผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่มาก   เช่น สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.45% ของใช้ประจำวัน เพิ่ม 1.1% วัสดุก่อสร้าง เพิ่ม 1.2% กระดาษและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 5% ปัจจัยการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เพิ่ม 0.5% เป็นต้น  ดังนั้นผู้ผลิตไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาสินค้าและได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าไปก่อน เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากนี้รัฐบาลตรึงดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนสินค้าไม่ปรับเพิ่มไปมากกว่านี้  ส่วนต้นทุนในด้านการขนส่ง  มีผลกระทบมากน้อยต่างกัน แล้วแต่ชนิดสินค้า แต่โดยภาพรวม ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ มาหารือเป็นรายกลุ่มสินค้า เพื่อประเมินสถานการณ์สินค้าแต่ละรายการแล้ว และได้แจ้งขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ ยกเว้นผู้ผลิต ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้จริง ก็จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยมีหลัก คือ ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนจนเกินไป และผู้ผลิตต้องอยู่ได้

สำหรับแนวโน้มราคาสินค้า พบว่า หลายรายการมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตร โดยราคาแม่ปุ๋ยยูเรีย ลดลง 17% จากราคาในเดือนธ.ค.2564 อยู่ที่ 953 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 790 ดอลลลาร์ต่อตัน ฟอสเฟต ลดลง 5% จากราคา 908 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 859 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนโปรแตช เพิ่มขึ้น 8% จาก665 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 724 ดอลลาร์ต่อตัน 

ขณะที่สินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาได้แล้วหลายกลุ่ม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรส นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารกระป๋อง และอาหารสด  

ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เบื้องต้นประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นจริง ก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการทำอาหารปรุงสำเร็จไม่มาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อจาน/ชาม แค่หลักสตางค์ แต่ตอนนี้ ยังไม่มีการปรับขึ้น ก็ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ค้า อย่าใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคา

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะประสานงานไปยังซับพลายเออร์ เพื่อให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต้นทุนถูก เช่น ของใช้ส่วนบุคคล สบู่ แชมพู ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ให้กับร้านค้าธงฟ้าที่มีอยู่ 1.3 แสนราย เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค และช่วยลดภาระค่าครองชีพ รวมทั้งกำลังพิจารณาจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อแทรกแซงตลาดตามความจำเป็น หากพบว่าสินค้ากลุ่มใดมีราคาปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ได้รับงบประมาณกลางจากรัฐบาลในการจัดทำโครงการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img