ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือนนับจาก 7 ก.ย. 64 หลังฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย-บอนด์อย่างต่อเนื่อง จับตาปมตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครนอาจบานปลายสู่สงครามกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือนนับจาก 7 ก.ย. 64 จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.53 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มจำกัดลงและเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัวในกรอบ sideways เพราะแม้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาดจนหลุดแนวรับที่ได้ประเมินไว้ จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อทั้งหุ้นไทยและบอนด์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ
ทว่าแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาดรวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ยังคงกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งมองว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น จะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในระยะสั้นได้
อย่างไรก็ดี ควรจับตาแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่ายังคงเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึง ทิศทางของราคาทองคำซึ่งหากราคาทองคำยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เราเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดก็ยังคงทยอยขายทำกำไรต่อและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ เราคาดว่า ฝั่งผู้นำเข้าต่างจะมารอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 32.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ระดับดังกล่าวยังเป็นโซนแนวรับที่สำคัญได้ในระยะสั้นนี้ ส่วนฝั่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 32.80 จนถึง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับภาพรวมตลาดการเงินยังคงผันผวนรุนแรงและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามได้ นอกจากนี้ ตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดสาย Hawk อย่าง James Bullard ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ส่งผลให้ ดัชนีหุ้น S&P500 ปรับตัวลง -0.49% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq แทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยถึงแม้หุ้นเทคฯ จะเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด แต่ความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ 1.98% ต่อ
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลงกว่า -2.18% จากความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจนำไปสู่สงครามได้ทุกเมื่อ โดยแรงเทขายหนักกระจุกตัวในหุ้นกลุ่ม Cyclical ที่สามารถปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงก่อนหน้า อาทิ กลุ่มการเงิน BNP Paribas -4.9%, ING -3.9%, Santander -3.9%
ทั้งนี้มองว่ายังคงต้องติดตามการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ระหว่างผู้นำเยอรมนีกับผู้นำรัสเซียในวันนี้ โดยมองว่า หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงและนำไปสู่การถอนกำลังทหารจากทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีและอาจช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ก็เผชิญความผันผวนเช่นกัน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 2.00% อีกครั้ง จากแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด
อย่างไรก็ดี ความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงคาม ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.98% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มาก เนื่องจากตลาดยังคงเผชิญความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึง แนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.29 จุด
สำหรับ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์กลับไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ โดยราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำจะส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำมากขึ้น ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนที่จะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ แม้ตลาดโดยรวมจะยังปิดรับความเสี่ยงก็ตาม
สำหรับวันนี้ ตลาดจะเฝ้าระวังและติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อย่างใกล้ชิด หลังการเจรจาล่าสุดระหว่างผู้นำสหรัฐฯและผู้นำรัสเซียยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดความตึงเครียด ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงได้
อนึ่ง ควรจับตาการเจรจาระหว่างผู้นำรัสเซียกับผู้นำเยอรมนีในวันนี้ ว่าจะสามารถช่วยลดความตึงเครียดได้หรือไม่ เพราะในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงปี 2014-2015 ก็สามารถคลี่คลายลงได้จากการเข้ามาร่วมเจรจาของผู้นำเยอรมนีและผู้นำฝรั่งเศส