คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถกแนวทางการแก้ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลแพง หลังรัฐไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต 3 บาทต่อลิตรนาน 3 เดือน
รายงานข่าวจากระทรวงพลังงานแจ้งว่า ในวันที่ 17 ก.พ.นี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน จะประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เพื่อหารือแนวทางพยุงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและการบริหารจัดการเงินกองทุน หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรว่า จะนำส่วนลดภาษีที่ปรับลงนั้นมาลดราคาน้ำมันโดยตรงทันที หรือนำมาลดราคาน้ำมันเพียงส่วนหนึ่งและนำไปเป็นกระแสเงินสดเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กองทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ต้องพิจารณากันหลายปัจจัย เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบต่อเนื่อง จนใกล้แตะ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลดภาษีก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันในอนาคตควบคู่ไปกับการใช้เงินกองทุนนำมันฯเท่านั้น ไม่ใช่ลดราคาขายปลีกทันที เนื่องจากขณะนี้กองทุนน้ำมันฯต้องใช้เงินในการดูแลทั้งก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ที่ตรึงราคาไว้ถังละ 318 บาทต่อถัง(15ก.ก.) และอุดหนุนราคาดีเซล 3.79 บาทต่อลิตร รวมเป็นเงิน เดือนละ7,000 ล้านบาท
ซึ่งในหลักการจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ให้ได้ถึง 31 พฤษภาคม 2565 และคาดว่าจะลดราคาขายปลีกหน้าปั๊มได้ไม่น่าจะเกิน 1-2 บาทต่อลิตร
ขณะที่เงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯเพื่อเสริมสภาพคล่อง 20,000 ล้านบาท ได้ขยายเวลาให้สถาบันการเงินเสนอแพจเกจ วงเงินกู้ได้ถึงสิ้นเดือนก.พ.นี้
สำหรับการดูแลผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เดิมมีการเสนอให้ช่วยเหลือกลุ่มมอเตอร์ไซค์ ที่มีอยู่ 21 ล้านคัน ในรูปแบบของบัตรส่วนลดน้ำมัน แต่ไม่ได้มีการนำมาพิจารณาในครม.เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลงลิตรละ 3 บาท จากปัจจุบันมีอัตราที่ลิตรละ 5.99 บาท เหลือ 2.99 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซล เดือนละ 5,700 ล้านบาท รวม 3 เดือน จะสูญเสียรายได้ 17,000 ล้านบาท