ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.14 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากการเก็งกำไรทองคำ-ผู้ส่งออกแพนิกเทขายดอลลาร์ ขณะที่ตลาดต่างประเทศผันผวนหนักปิดรับความเสี่ยงกังวลรัสเซียบุกโจมตียูเครน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.14 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.18 บาทต่อดอลลาร์ แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึงแรงซื้อหุ้นไทยสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ กอปรกับการแข็งค่าหนักจนหลุดแนวรับสำคัญของเงินบาทก็หนุนให้ผู้ส่งออกบางรายเร่งเข้ามาขายเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งเรามองว่า เงินบาทจะยังได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากปัจจัยดังกล่าวอยู่ต่อในระยะนี้ โดยเฉพาะแรงเทขายทำกำไรทองคำจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสงครามได้
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็เริ่มมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง หากสถานการณ์ความตึงเครียดคลี่คลายลง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มขายทำกำไรธีมการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งอาจจะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยได้
นอกจากนี้ควรติดตามสถานการ์การระบาดของโอมิครอนในประเทศ หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อ รวมถึงอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจกดดันระบบสาธารณสุขได้
ซึ่งกรณีเลวร้ายคือ รัฐบาลอาจพิจารณากลับมายกระดับมาตรการควบคุมการระบาด อีกทั้ง เรามองว่า การแข็งค่าเร็วและผันผวนหนักของเงินบาทจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยดูแล ลดความผันผวนของค่าเงินลง ซึ่งจะช่วยให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มจำกัดลงและเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัวในกรอบ sideways มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.10-32.20 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับภาพรวมตลาดการเงินต่างประเทศยังคงผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังทางการสหรัฐฯ ยังคงเน้นย้ำถึงแนวโน้มที่รัสเซียจะพร้อมเปิดฉากบุกโจมตียูเครนได้ทุกขณะ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าความตึง เครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นอาจบานปลายสู่สงครามได้ และเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยง พร้อมทยอยเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาล
ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงถึง -2.88% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลงกว่า -2.12% ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียพร้อมจะบุกโจมตียูเครนส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ เลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาก่อนเพื่อลดความผันผวนต่อพอร์ตการลงทุน
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวลดลงราว -0.58% จากความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจนำไปสู่สงครามได้ทุกเมื่อ โดยแรงเทขายหนักกระจุกตัวในทั้งหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นกลุ่ม Cyclical อย่าง กลุ่มการเงิน อาทิ Adyen -5.3%, Infineon Tech. -2.6%, Intesa Sanpaolo -1.9%, ING -1.7% ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ โดยมองว่า หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงและนำไปสู่การถอนกำลังทหารจากทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีและอาจช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ก็เผชิญความผันผวนเช่นกัน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.95% และมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อได้จากความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน
อย่างไรก็ดี หากเกิดสงครามขึ้นจริง จากสถิติในอดีต ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยงแค่ในระยะสั้นไม่ถึง 2 เดือน ทำให้เรามองว่ายังมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวจะสามารถปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ได้ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากที่ตลาดยังคงกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.8 จุด นอกเหนือจากเงินดอลลาร์แล้ว ผู้เล่นในตลาดยังเลือกเข้ามาถือเงินเยน (JPY) ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ เงินเยนแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 114.8 เยนต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนที่ยังร้อนแรงอยู่ยังได้หนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำจะส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำมากขึ้น ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนที่จะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ แม้ตลาดโดยรวมจะยังปิดรับความเสี่ยงก็ตาม
สำหรับวันนี้ ตลาดจะเฝ้าระวังและติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงได้
ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในญี่ปุ่นอาจทำให้การบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาสินค้าพลังงานและอาหารสด ของเดือนมกราคมที่จะลดลงสู่ระดับ -1.0%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.6% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากและยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะทำให้ BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อและยังไม่มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้
ทั้งนี้ แนวโน้มการคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ BOJ จะช่วยหนุนให้ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าลงในโซน 115-116 เยนต่อดอลลาร์ได้ และช่วยให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถปรับตัวขึ้นได้ในระยะถัดไป แม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวลดลงจากความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามซึ่งหนุนให้เงินเยนกลับมาแข็งค่าในช่วงนี้