วันอังคาร, พฤศจิกายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“แบงก์ไทย”แกร่งเงินกองทุนสูง-หนี้เสียต่ำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แบงก์ไทย”แกร่งเงินกองทุนสูง-หนี้เสียต่ำ

ธปท.เผยระบบธนาคารพาณิชย์แกร่งเงินกองทุนระดับสูง ปี 64 ปั๊มกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้านบาท เติบโต 23.6% เหตุกันสำรองลด-คุมค่าใช้จ่ายด้านสาขาดีขึ้น ด้านหนี้เสียลดลงอยู่ที่ 2.98% เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินธุรกิจระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ประเมินว่าจากแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งหากดูตัวเลขจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไตรมาสที่ 4/2564 ออกมาขยายตัว 1.9% ตามทิศทางการระบาดของโควิด-19 ที่ทยอยปรับดีขึ้น ประกอบกับระบบธนาคารพาณิชย์มีการลดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี การตั้งสำรองน่าจะดีขึ้น ทำให้ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีความแข็งแกร่ง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564 มีความแข็งแกร่งจาก 4 ด้านคือ 1.มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ทรงตัวในระดับสูง 19.9% หรือมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.03 ล้านล้านบาท 2.เงินสำรองอยู่ในระดับสูงกว่า 8.89 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่มีอยู่ต่อเอ็นพีแอลที่ระดับ 162.6%

3.สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio : LCR) อยู่ที่ 189.2% ส่วน 4.อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝาก(L/D) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.2% สะท้อนความมั่งคงแข็งแรงต่อเนื่องของระบบธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้หากดูกำไรสุทธิระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 อยู่ที่จำนวน 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% จากปีก่อน โดยมาจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน โดยในปี 2564 ธนาคารมีการกันสำรอง 1.96 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 14% เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโควิด-19 มีการกันสำรองถึง 2.30 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.81% จากปีก่อนที่ 0.69% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.46% จากปีก่อนที่ 2.63%

“ผลการดำเนินงานในปี 64 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 โดยมีกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองที่ลดลง และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเรื่องอาคารสถานที่หรือสาขา โดยรวมระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง”

ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ขยายตัวที่ 6.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.1% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 7.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวในเกือบทุกประเภทธุรกิจ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวต่อเนื่อง จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 4.0% โดยสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอยู่ที่ 1.7% สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 7.8% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน สินเชื่อรถยนต์ทรงตัวสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงจากปีก่อน

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อนอยู่ที่ 2.98% แต่ถือว่ากลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยมียอดคงค้างหนี้อยู่ที่ 5.30 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 6.39% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 6.62%

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img