ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.71 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่า หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังปะทะเดือดหนุนดอลลาร์แข็งค่า- น้ำมันพุ่ง จับตาเงินเฟ้อก.พ.สหรัฐฯรวมถึงผลการประชุมของ ECB ในสัปดาห์นี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.71 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มที่จะผันผวนในกรอบกว้างต่อ ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจะมาการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานที่อาจกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าพลังงานที่สูง
อย่างไรก็ดี แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยงเรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากเงินบาทยังคงได้แรงหนุนด้านแข็งค่าจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับแนวต้านสำคัญก่อนหน้า ขณะเดียวกันผู้เล่นต่างชาติบางส่วนยังคงรอจังหวะเข้ามาเก็งกำไรธีมเงินบาทแข็งค่าจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่สถาบันการเงินต่างชาติบางส่วนยังมองเป้าเงินบาทปลายปีแข็งค่ากว่า 31.00 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับสำคัญยังคงเป็นโซน 32.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าก็ต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนแนวต้านที่สำคัญนั้น เราคาดว่าผู้ส่งออกจะรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงใกล้ช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวจะเป็นแนวต้านสำคัญในระยะนี้
ส่วนเงินดอลลาร์เริ่มมี Upside ที่จำกัด โดยมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ยังคงมาจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความไม่แน่นอนของสงคราม ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้ หาก ECB มีท่าทีที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นหรือสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในอนาคต หลังเงินเฟ้อฝั่งยุโรปมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.40-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่องและผู้เล่นในตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเราคงมองว่า ในระยะสั้น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัญหาสงครามที่เกิดขึ้น อาจส่งกระทบต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักได้ โดยในสัปดาห์นี้ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมของ ECB
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.9% ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6.4%
ซึ่งจะเห็นได้ว่าแรงหนุนเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นั้นมากจากทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้เฟดสามารถเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีนี้ได้
ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของภาวะสงคราม รวมถึงราคาสินค้าพลังงานรวมถึงราคาสินค้าอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะสงครามจะกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำรวจโดย มหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofM Consumer Sentiment) ในเดือนมีนาคมให้ลดลงสู่ระดับ 61 จุด จาก 62.8 จุดในเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ยุโรปมองว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลให้ตลาดการเงินยังมีแนวโน้มผันผวนสูงต่อได้
สำหรับไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตาคือ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ -0.50% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปจากผลกระทบของสงคราม อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือ มุมมองของประธาน ECB ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหลังเกิดสงครามขึ้น รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ECB ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการปรับนโยบายการเงินในอนาคตได้
อนึ่งในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดประเมินว่า สถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง จะกดดันให้บรรดานักลงทุนต่างมีมุมมองที่แย่ลงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินยุโรปในช่วงนี้ สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนมีนาคมที่จะปรับตัวลดลงอย่างมากสู่ระดับ 5.3 จุด จาก 16.6 จุด
ด้านเอเชีย – ตลาดประเมินว่าผลกระทบของราคาสินค้าพลังงานที่เร่งตัวขึ้นและการใช้จ่ายของคนจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.1% ทว่าดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิต (PPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 8.6% เนื่องจากฐานราคาสินค้าผู้ผลิตที่สูงในปีก่อนหน้าและความพยายามคุมต้นทุนการผลิตของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากภาวะสงครามอาจส่งผลให้ PPI ปรับตัวขึ้นได้เช่นกัน
ส่วนไทย – ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงคราม รวมถึงค่าครองชีพที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น อาจกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 43.8 จุด สะท้อนว่าผู้บริโภคมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ