ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าทำสถิติใหม่ในรอบ 5 สัปดาห์นับจากเดือนก.พ. จากปมตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ “ไบเดน” ประกาศคว่ำบาตรนำเข้าพลังงานรัสเซีย ทำให้ตลาดการเงินผันผวนหนัก
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงรอบ 5 สัปดาห์นับจากเดือนก.พ.จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.19 บาทต่อดอล ลาร์ เป็นผลมาจากปิดสถานะเก็งกำไรของผู้เล่นต่างชาติที่ก่อนหน้าได้เข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาท ดังจะเห็นได้จากแรงเทขายบอนด์ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทอาจจะเริ่มลดลง กอปรกับ ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจกระตุ้นให้ผู้เล่นในตลาดทองคำอยากเข้ามาขายทำกำไร ดังนั้น หากตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงอย่างหนัก
ทั้งนี้มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเริ่มจำกัดและเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัว sideways โดยมีแนวต้านใกล้โซน 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยฝั่งผู้นำเข้าได้ทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินไปมากแล้ว ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ยังมองว่าสามารถรอจังหวะเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ได้ หากไม่มีความจำเป็น
อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ ทำให้การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ Option มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินโดยรวมยังคงเผชิญความผันผวน ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้ประกาศเตรียมคว่ำบาตรนำเข้าสินค้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า บรรดาประเทศฝั่งตะวันตกอาจยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม เพื่อกดดันให้รัสเซียยุติการทำสงคราม
ท่าทีของบรรดาประเทศฝั่งตะวันตกที่พร้อมจะคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ พุ่งสูงขึ้นและยังคงอยู่ในระดับสูงต่อ กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงหรือ Stagflation ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าถือสินทรัพย์เสี่ยง ยกเว้นสินทรัพย์เสี่ยงที่จะได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ หุ้นกลุ่มพลังงาน/หุ้นกลุ่มเหมือง เป็นต้น
โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ยังคงปรับตัวลดลงกว่า -0.73% ขณะที่ ดัชนีหุ้น Dowjones ปรับตัวลง -0.56% ซึ่งทั้งสองดัชนียังคงมีแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานช่วยพยุงตลาดไว้
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลง -0.19% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่าง ไรก็ดี ผู้เล่นบางส่วนได้เข้ามาซื้อหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กลุ่มการเงิน BNP Paribas +3.2%, Santander +2.5% ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มพลัง งานยังคงสามารถปรับตัวขึ้นช่วยพยุงดัชนีไว้ ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ wait and see รอจังหวะเข้าซื้อหุ้นยุโรปไปก่อน แมเว่า ราคาหุ้นยุโรปจะปรับตัวลงแรงจนระดับราคาน่าสนใจมากก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.85% ทั้งนี้ เรามองว่า เมื่อตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ท่าทีของเฟดที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับลดงบดุล จะสามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะถัดไป
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนจาก sentiment ของตลาดที่พลิกกลับไปมา แต่โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลสถานการณ์สงครามที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้ ทำให้ตลาดยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบผันผวน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 99.08 จุด
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าซื้อทองคำเพื่อป้องกันความผันผวนพอร์ตเช่นกัน ส่งผลให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า ในระยะสั้นผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือทองคำเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตจากสถานการณ์สงคราม ทั้งนี้ เรามองว่า ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ทำให้ผู้เล่นที่เข้าซื้อมาตั้งแต่ช่วง 1,900 หรือ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจรอจังหวะทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งต้องติดตามทิศทางการเจรจาเพื่อยุติสงครามอย่างใกล้ชิด
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเจรจาหยุดยิงชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้ชาวยูเครนสามารถอพยพจากพื้นที่การสู้รบได้อย่างปลอดภัย ซึ่งลดแรงกดดันต่อตลาดการเงินได้บ้าง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดการเงินจะยังคงเผชิญความผันผวนหนักจากแนวโน้มฝั่งตะวันตกพร้อมคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย หรือ รัสเซียก็พร้อมตอบโต้ด้วยการไม่ส่งออกพลังงานให้ ทำให้ราคาสินค้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น กดดันให้ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation ได้