ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตาประชุมเฟด 15-16 มี.ค.นี้ คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เผยสถิติตั้งแต่ 1 มี.ค.-11 มี.ค. บาทอ่อนรั้งอันดับ 3 จากเงินทุนไหลออก ขายพันธบัตรสุทธิ 5 หมื่นล้านบาท
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐประเด็นที่ติดตามคือจับตาประชุมเฟด 15-16 มี.ค. คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% รวมถึงถ้อยแถลงประธานเฟด และการคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อจากเฟด เพื่อประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัด ๆ ไปสถานการณ์สงครามในยูเครนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยอดค้าปลีก ก.พ. ของสหรัฐฯกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน
สำหรับดอกเบี้ยเฟด ตลาดมอง ปีนี้ ขึ้นครั้งละ 0.25% รวม 6 ครั้ง เราคาดว่าอาจจะ 4-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อช่วงครึ่งหลังของปีส่วนดอกเบี้ยของไทยคิดว่าตรึงยาวตลอดปีนี้ค่ะ เพราะเงินเฟ้อไทยเกิดจากด้านต้นทุนเป็นหลัก ขณะที่ของสหรัฐฯเป็นผลของอุปสงค์และค่าจ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่งกว่าอย่างไรก็ดี หากรัฐตรึงราคาน้ำมัน จะต้องมีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น และต้องกู้เงินเพิ่ม
ส่วนการเคลื่อนไหวสกุลภูมิภาค ตั้งแต่ 1 มี.ค.-11 มี.ค.ที่ผ่านมาพบว่าวอน-เกาหลีใต้อ่อนค่าสุด 2.58 %รองลงมาคือเปโซ-ฟิลิปปินส์1.99% บาท-ไทย 1.43 %ดอลลาร์-ไต้หวัน 1.30%รูปี-อินเดีย 1.26 % ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.32% หยวน -จีน 0.25 %และดอง-เวียดนาม 0.17% ยกเว้นรูเปียห์-อินโดนีเซีย 0.38% ริงกิต-มาเลเซีย 0.14%
สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าเดือนนี้ จากกระแสเงินทุนไหลออก ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ภาวะเงินเฟ้อสูง ต้นทุนด้านพลังงาน อาหาร และค่าขนส่ง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 มี.ค. 10 มี.ค.ต่างชาติ ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3 พันล้านบาท ขายพันธบัตรสุทธิ 5 หมื่นล้านบาท (ไม่นับรวมตราสารครบอายุ)