“ศักดิ์สยาม” ออกโรงค้านขยายสัมปทานสายสีเขียวหากไม่ปฎิบัติตามระเบียบข้อกฎหมาย-หลักธรรมาภิบาล คมนาคม จี้ “ปลัดกทม.” ขอสำเนามติสภากทม.จ้าง “กรุงเทพธนาคม” ติดตั้งระบบ-ว่าจ้างเดินรถ หลังพบพิรุธ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ถ้ากระทรวงมหาดไทยเสนอขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาให้ ครม. พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ในส่วนของคมนาคมยืนยันว่าไม่ขัดข้องหากจะเสนอกลับมา แต่อยากให้ กทม. โดยกระทรวงมหาดไทยตอบความเห็นของ คณะกรรมการกลั่นกรองที่ทำหนังสือถามไปเพิ่มเติม ให้ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมาย และถูกหลักธรรมาภิบาล ทางกระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้มีปัญหา
รายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องขอความเห็นผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครม.พิจารณา และทางสำนักเลขาธิการ ครม. ได้ขอให้กระทรวงคมนาคมเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.นั้น กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และ ได้ส่งหนังสือไปยัง ปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อขอ กทม.ตอบใน 3 ประเด็นประกอบด้วย
1.ขอสำเนาเอกสารการอนุมัติให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าพื้นที่ติดตั้งงานระบบไฟฟ้า ที่ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กับ กรุงเทพมหานคร(กทม.)ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของ รฟม.ให้ กทม. ที่ข้อ 2.1กำหนดไว้ว่า รฟม. อนุญาตให้ กทม.เข้าพื้นที่ติดตั้งงานได้ตามความเหมาะสม แต่ กทม.กลับมอบหมายให้ กรุงเทพธนาคม เป็นผู้เข้าพื้นที่แทน
2.ขอสำเนามติสภา กทม. กรณีอนุมัติให้ กทม. ว่าจ้าง กรุงเทพธนาคม เป็นผู้ติดตั้งงานระบบเดินรถ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 รวมถึงการอนุมัติงบประมาณจากสภา กทม.ด้วย
3.ขอสำเนามติสภา กทม.ในการอนุมัติให้ กทม.เพื่อว่าจ้างเดินรถดังกล่าว ทั้งนี้ในรายละเอียดขอทราบกรอบระยะเวลา และ กรอบวงเงินงบประมาณในการว่าจ้าง กรุงเทพธนาคม เดินรถว่าเป็นงบประมาณเท่าไหร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงมหาดไทยได้มีความพยายามที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบในการขยายระยะเวลาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ออกไปอีก 30 ปีมาโดยตลอด ขณะที่กระทรวงคมนาคม ก็ได้มีการคัดค้านในที่ประชุม ครม. รวมถึงการเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ครม.คัดค้านไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมาย ทั้งการโอนกรรมสิทธิ์ของโครงการที่ปัจจุบันทาง กทม. ยังไม่ได้มีการจ่ายค่าก่อสร้างให้กับ รฟม. ดังนั้น สิทธิ์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจะยังเป็นของ รฟม.อยู่ ทาง กทม. จะไปโอนให้สิทธิ์ให้เอกชนในการติดตั้งระบบเดินรถ และ จ้างเดินรถไม่ได้ จนล่าสุด คมนาคมได้ทำหนังสือถึงปลัด กทม.ขอสำเนา มติสภา กทม.ในการอนุมัติ ให้เอกชนวางระบบและเดินรถ เพื่อมาประกอบความเห็นเข้า ครม.