ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.26 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตลาดเปิดรับความเสี่ยงหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาดการณ์ หนุนเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย จับตาผลเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังมีความไม่แน่นอนสูง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.26 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ตลาดโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง หลังแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ไม่ได้ต่างจากคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งประธานเฟดยังแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถรับมือการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งได้ ขณะเดียวกัน แม้ว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง แต่ทว่าผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงมีความหวังว่าการเจรจาสันติภาพจะยังคงดำเนินต่อไปและอาจช่วยลดความร้อนแรงของสถานการณ์ลงได้บ้าง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามภาวการณ์เปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ดังจะเห็นได้จากฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ทั้งนี้ ต้องจับตาว่า นักลงทุนต่างชาติจะทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้นสุทธิเมื่อไหร่ เนื่องจากแรงซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นไทยนั้น อาจเป็นสัญญาณการกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทฝั่งแข็งค่าอีกครั้งได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและค่าเงินบาทยังคงเป็น ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของการระบาดโอมิครอนระลอกใหม่ ซึ่งต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้าบางส่วนอาจจะทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ โดยเรามองว่า แนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ (ส่วนในเชิงเทคนิคัลเงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่เส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และ 200 วัน) ขณะที่แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์
ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น ได้หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นต่อราว +1.33% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +1.23% โดยมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น จากอานิสงส์การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบหลังจากที่ สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA ระบุว่า ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย อาจทำให้ตลาดน้ำมันสูญเสียปริมาณน้ำมันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากรัสเซีย ราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวเล็กน้อยราว -0.11% โดยความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นในวันก่อนออกมาบ้าง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาสินค้าพลังงาน อาทิ Eni +2.7%, Total Energies +1.0% เป็นต้น
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงการปรับตัวขึ้นอีกครั้งของราคาสินค้าพลังงาน ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.16% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของสงครามอยู่ ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์เป็นไปอย่างจำกัด ซึ่ง หากตลาดเลิกกังวลปัจจัยสงคราม เรามองว่า ปัจจัยที่จะมีผลต่อบอนด์ยีลด์ในอนาคตได้ คือ การลดงบดุลของเฟด ว่าจะมีอัตราการลดงบดุลขนาดไหนและเฟดจะมีโอกาสขายตราสารหนี้ออกมาหรือไม่
ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 97.88 จุด หลังผู้เล่นในตลาดต่างทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง เงินยูโร (EUR) ที่แข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 1.111 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ทยอยแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 1.317 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากสถานการณ์สงครามไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ล่าสุดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อเช่นเดียวกันกับเฟด
ทั้งนี้แม้ตลาดจะทยอยเปิดรับความเสี่ยง แต่การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดทองคำควรระมัดระวังแรงขายทำกำไร หากสถานการณ์สงครามคลี่คลายลงชัดเจน
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้าการเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สถานการณ์สงครามและการเจรจายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และอาจทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามที่ได้หนุนให้ราคาสินค้าพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆเร่งตัวขึ้นจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.0%
แต่หากหักผลของราคาสินค้าพลังงานและราคาอาหารสดออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะอยู่ที่ระดับ -1.0% สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีและจะกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% รวมถึงเดินหน้าคุมยีลด์เคิร์ฟและซื้อสินทรัพย์ต่อ ซึ่งการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อของ BOJ ที่สวนทางกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟดจะสามารถช่วยหนุนให้ ค่าเงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าและทรงตัวเหนือระดับ 115 เยนต่อดอลลาร์ในปีนี้ได้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าก็ตาม