วันอังคาร, ตุลาคม 1, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightศึกรัสเซีย-ยูเครนทุบ“การค้าโลก”สะดุด คาด“ส่งออกไทย”เติบโตเพียง 5% 
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศึกรัสเซีย-ยูเครนทุบ“การค้าโลก”สะดุด คาด“ส่งออกไทย”เติบโตเพียง 5% 

“สรท.”คาดส่งออกปีเสือสะดุดเติบโตเพียง 5% หลังศึก “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ค่าระวางเรือพุ่งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะขยายตัวได้เพียง 5% จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5-8% จากผลกระทบปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงขณะนี้ ท่าเรือสำคัญของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในทะเลบอลติก ท่าเรือโนโวรอสซิกในทะเลดำ และท่าเรือวลาดิวอสตอกในตะวันออกไกลของรัสเซีย ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ดังนั้นการขนส่งสินค้าทางเรือเข้ารัสเซียจำเป็นต้องขนส่งสินค้าผ่านไปยังประเทศที่ 3 แล้วขนย้ายขึ้นไปส่งสินค้าทางบกต่อ ทำให้เกิดความยากลำบากในการขนส่ง

ขณะที่การขนส่งทางอากาศไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือการเดินทางระหว่างประเทศไปยังรัสเซีย ก็ไม่สามารถเดินทางได้ ขณะที่การขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศยูเครน ก็ปิดบริการมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ ตั้งแต่มีปัญหาสงครามระหว่างกัน แม้ว่าประเมินผลกระทบทางตรงจากการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียและยูเครน อาจมีมูลค่าไม่มากประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยไทยส่งออกไปยูเครนมูลค่าประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้สายการเดินเรือหลายบริษัทงดรับสินค้าไปยังเส้นทางประเทศยูเครน และรัสเซีย ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการขนส่งสินค้าเส้นทางนี้ รวมถึงเส้นทาง ยุโรปทั่วไปด้วย รวมถึงความลำบากในการจัดสรรเรือในเส้นทาง ส่วนเส้นทาง สหรัฐอเมริกาก็พบปัญหาคอขวดด้านซัพพลายเชนอีก

ทั้งนี้ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือปัญหาค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผลกระทบทางตรงจากสงครามที่มีผลต่อราคาน้ำมัน แม้ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงจาก 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังไม่สามารถทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงได้ และยังมีผลต่อเส้นทางเดินเรือที่เอกชนต้องวางแผนและเจรจากับผู้นำเข้าล่วงหน้า ถือเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้า

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยเปรียบเทียบค่าระวางเรือ หรือค่าเฟรต (freight) จากไทยไปยังสหภาพยุโรป ก่อนและสงครามรัสเซีย-ยูเครน พบว่าเดือน ก.พ. 2565 ค่าระวางเรือขนาดตู้ 40 ฟุต เฉลี่ยอยู่ที่ 14,300 เหรียญสหรัฐ ปรับขึ้นประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ จากช่วงก่อนเกิดสงครามเฉลี่ยประมาณ 13,300 เหรียญสหรัฐ (อัตราค่าระวางเดือน พ.ย. 2564 ที่ 13,200 เหรียญสหรัฐ, เดือนธันวาคม 13,200 เหรียญสหรัฐ และมกราคม 13,600 เหรียญสหรัฐ)

ขณะที่ค่าระวางตู้ขนาด 20 ฟุต ปัจจุบันอยู่ที่ 8,200 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เทียบกับก่อนเกิดสงคราม เฉลี่ยที่ 7,700 เหรียญสหรัฐต่อตู้ (อัตราค่าระวางเดือน พ.ย. 2564 อยู่ที่ 7,400 เหรียญสหรัฐ, ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 7,700 เหรียญสหรัฐ และ ม.ค. 2565 อยู่ที่ 8,200 เหรียญสหรัฐ)

นอกจากนี้ เส้นทางอื่น ๆ ก็มีการปรับขึ้น เช่น สหรัฐฝั่งตะวันออก ตู้ขนาด 20 ฟุต ปรับจาก 13,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 13,360 เหรียญสหรัฐ ตู้ขนาด 40 ฟุต ปรับจาก 16,500 เหรียญสหรัฐ เป็น 17,500 เหรียญสหรัฐ เส้นทางญี่ปุ่น ตู้ขนาด 20 ฟุต ปรับจาก 500 เหรียญสหรัฐ เป็น 650 เหรียญสหรัฐ ตู้ขนาด 40 ฟุต ปรับจาก 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,300 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img