ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.46 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังเงินทุนต่างชาติไหลเข้าพันธบัตร ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า จับตาการประชุมระหว่างสหรัฐฯ-กลุ่มอียู-พันธมิตรนาโต-กลุ่มประเทศ G7 คว่ำบาตรรัสเซียวันที่ 24 มี.ค.นี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.46 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น นอกจากนี้เริ่มเห็น โฟลว์ซื้อบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติราว 2 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า แรงขายบอนด์ระยะสั้นที่กดดันค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจจบลง และต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะกลับมาซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นได้หรือไม่
ทั้งนี้ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.60-33.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่แนวรับจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้กับแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันและ 200 วัน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.60 บาทต่อดอลลาร์
ขณะเดียวกันนักลงทุนเริ่มทยอยรับรู้แนวโน้มการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด ซึ่งสะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า มีโอกาสราว 67% ที่เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยกลับเข้ามาซื้อหุ้นเทคฯ ที่มีผลประกอบการแข็งแกร่ง อาทิ Alphabet (Google) +2.8%, Meta (Facebook) +2.4% เป็นต้น หนุนให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.95% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.13%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด
อนึ่ง แม้ว่าผู้เล่นในตลาดการเงินยังมีความกังวลต่อ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนรวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างสองฝ่าย ทว่าผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลโอกาสเกิด Stagflation หลังบรรดาประเทศยุโรปยังคงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ ราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวลดลงอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ประเด็นดังกล่าวควรติดตามการประชุมระหว่าง สหรัฐฯ, ประเทศกลุ่ม EU, พันธมิตร NATO และกลุ่มประเทศ G7 ที่รวมถึงญี่ปุ่น ในวันพฤหัสฯ นี้ เพื่อจับตาท่าทีของนานาประเทศว่าจะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติมอย่างไร หรือจะมีการช่วยเหลือยูเครนในประเด็นใดบ้าง
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +1.14% จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน ING +3.0% รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ASML +2.4% หลังผู้เล่นในตลาดลดความกังวลโอกาสที่ยุโรปจะคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation และทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีได้
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาพรวมของตลาดการเงินที่ทยอยเปิดรับความเสี่ยงและท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ยังคงหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 2.38%
ทั้งนี้ ตลาดอาจรับรู้แนวโน้มหรือโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น เรามองว่า ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดว่าจะเปิดเผยรายละเอียดหรือให้มุมมองเกี่ยวกับ การปรับลดงบดุลของเฟดอย่างไร เนื่องจากประเด็นการปรับลดงบดุลอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของบอนด์ยีลด์ได้
ด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 98.50 จุดอีกครั้ง หลังตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงและลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง นอกจากนี้ ภาพตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ที่หนุนให้ทั้ง เงินดอลลาร์รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ก็เริ่มกลับมากดดันราคาทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,918 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่เราเชื่อว่า ผู้เล่นบางส่วนต่างรอจังหวะ buy on dip หากราคาทองคำย่อตัวใกล้แนวรับสำคัญแถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงครามรวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ,พันธมิตร NATO, กลุ่มประเทศยุโรป รวมถึง กลุ่มประเทศ G7 ว่าจะมีท่าทีต่อสถานการณ์สงครามอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย
และนอกเหนือจากภาวะสงคราม ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวจากการระบาดของโอมิครอนจะช่วยหนุนให้ยอดการส่งออกของไทย (Exports) ในเดือนกุมภาพันธ์ โตกว่า 10%y/y
ขณะเดียวกันยอดการนำเข้า (Imports) อาจขยายตัวราว +19%y/y จากแนวโน้มราคาสินค้าต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุลไม่น้อยกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์
ซึ่งในระยะสั้นดุลการค้าของไทยยังมีโอกาสขาดดุลต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามที่จะกดดันให้ยอดการส่งออกอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ยอดการนำเข้าโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน/สินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อไป เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน