“จุรินทร์” เผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. มูลค่า 770,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% นำเข้ามีมูลค่า 776,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% ตลาดรัสเซียนำโด่งโต 33.4% จับตาสงครามใกล้ชิด พร้อมถกเอกชนรับมือสถานการณ์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือนก.พ.ว่า มีมูลค่าการส่งออก 770,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% นำเข้ามีมูลค่า 776,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% การที่อัตราการนำเข้ายังเป็นบวกถือเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ มีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตนำไปสู่การส่งออกนำรายได้เข้าประเทศต่อไป ขณะที่ตัวเลข 2 เดือน(ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 1,479,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2%
สำหรับตลาดที่ขยายตัวในระดับสูง 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.รัสเซีย 33.4% 2.อาเซียน 5 ประเทศ 31.5% 3.ฮ่องกง 29.8% 4.เกาหลีใต้ 28.9% 5.สหรัฐฯ 27.2% 6.อินเดีย 23% 7.ไต้หวัน 17.7% 8.สหราชอาณาจักร+17.3% 9.CLMV 14.4% 10. ตะวันออกกลาง13.8% ส่วนรายละเอียดรายสินค้ายังไม่มีเนื่องจากมีการเปลี่ยนระบบพิกัดภาษีศุลกากรในรอบ 5 ปี
ปัจจัยที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2565 ประกอบด้วยหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการส่งออก 1.การเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตร ตามยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เช่น ข้าว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวบรรลุเป้าหมายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000,000 ตันและจะมีตลาดเพิ่มในตะวันออกกลาง
2.ตลาดใหม่ที่ตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เริ่มปรากฏผลคือซาอุดิอาระเบีย โดย อย.ซาอุฯ อนุญาตให้นำเข้าไก่จาก 11 โรงงานของไทยได้แล้วและสัปดาห์หน้าจะมีการส่งออกไก่ล็อตแรกไปยังซาอุดิอาระเบีย
3.กระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศในการบรรจุสินค้าและบริการของไทยลงบนแพลตฟอร์มประสบความสำเร็จ ล่าสุดแพลตฟอร์มไต้หวัน สามารถนำสินค้าไทยไปขายบนแพลตฟอร์ม 3 แพลตฟอร์ม PChome ,PINKOI online marketplace ,เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไลฟสไตล์ สินค้า BCG และแพลตฟอร์มออนไลน์ของไปรษณีย์ไต้หวัน
4.การส่งเสริมกิจกรรม Online Business Matching หรือ OBM จับคู่ค้าขายออนไลน์และส่งเสริมการขายตามห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ที่เราดำเนินการต่อเนื่องประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มอาหารแห่งอนาคต สินค้า BCG สามารถสร้างมูลค่าได้ 3,450 ล้านบาท โดยคู่เจรจา 5 อันดับแรกประกอบด้วย อินเดีย เมียนมา ญี่ปุ่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ และมีการจัด In-store promotionที่ห้างดองกี้ของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการขายสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ผลไม้และข้าว เป็นต้น
สำหรับภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัวดูจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 จะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย และสุดท้ายสถานการณ์ค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น
แต่ยังไม่รวมประเด็นที่จะเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเรื่องโลจิสติกส์และค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ จะเป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไปในรูปของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์)
ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เดือนมีนาคมและเมษายนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและแก้ปัญหาร่วมกับเอกชนต่อไปและลงลึกจากข้อมูลของทูตพาณิชย์ทั่วโลกว่าจะมีผลกระทบด้านไหน