วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เงินทุน”ไหลเข้าหุ้น-พันธบัตร หนุน“บาทแข็ง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินทุน”ไหลเข้าหุ้น-พันธบัตร หนุน“บาทแข็ง”

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังเงินทุนไหลเข้าหุ้น-พันธบัตรคึกคัก จับตาจีนเผชิญการระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่รุนแรงกดดันธนาคารกลางฝั่งเอเชียใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.51 บาทต่อดอลลาร์  จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังเดินหน้า ซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์ ที่เริ่มเห็นแรงซื้อสุทธิทั้งบอนด์ระยะสั้นและระยะยาวมากขึ้น  ซึ่งจากข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารวมกับเมื่อวานนี้เงินทุนไหลเข้าบอนด์ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่หุ้น 1.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทนั้น  ผันผวนในกรอบกว้างและยังไม่มีแนวโน้มการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ยังคงเป็นความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าอยู่ ขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ยังน่ากังวล ก็อาจกดดันค่าเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับจีนสูง

อนึ่ง เงินบาทยังคงมีแนวต้านในโซน 33.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกก็ต่างรอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญในระยะสั้นจะอยู่ในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งบรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะ buy on dip อยู่ ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.55 บาทต่อดอลลาร์

แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากที่สหรัฐฯ และพันธมิตรฝั่งตะวันตกออกมาประณามความรุนแรงที่เกิดในเมือง Bucha ของยูเครน แต่ผู้เล่นในตลาดการเงินกลับไม่ได้กังวลประเด็นดังกล่าวมากนัก ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นในตลาดได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า สถานการณ์สงครามมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อ แต่ความรุนแรงอาจเริ่มจำกัดลง 

อนึ่ง ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +1.90% ท่ามกลางแรงซื้อหุ้นเทคฯ อย่างต่อเนื่อง นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้น Twitter +27% จากรายงานข่าวว่า Elon Musk ได้เข้าถือหุ้นกว่า 9% ซึ่งการปรับตัวขึ้นของหุ้น Twitter ยังช่วยหนุนให้ หุ้นกลุ่ม Social Media อื่นๆ ปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.81% 

ส่วนยุโรป แม้ว่าตลาดจะเผชิญความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพ ทว่า ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.83% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า เศรษฐกิจยุโรปจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี หากสงครามไม่ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบัน ทำให้หุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ Louis Vuitton +2.2%, Kering +1.8% 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหุ้นจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ตามฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน นำโดย Adyen +3.4%, ASML +1.8% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนของสงครามและการเจรจาสันติภาพ ทำให้ Risk/Reward ยังไม่น่าสนใจและแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน 

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าในฝั่งตลาดหุ้นจะสะท้อนภาพผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยง ทว่าในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดกลับมีมุมมองที่กังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกดดันเศรษฐกิจและนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ สะท้อนผ่าน การเกิด Inverted Yields Curve ขึ้นระหว่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบอนด์ยังเลือกที่จะถือบอนด์ระยะยาวอยู่และกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.40% 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรจับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุดในวันพฤหัสฯ นี้ ซึ่งหากเฟดมีการเปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการลดงบดุลและส่งสัญญาณพร้อมลดงบดุลในเดือนพฤษภาคม ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้

ตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 99 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามและความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลให้ สกุลเงินยูโร (EUR) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.098 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งนี้แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และโดยรวมตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ความไม่แน่นอนของสภาวะสง ครามและการเจรจาสันติภาพ ก็หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงถือครองทองคำ เพื่อหลบความผันผวนในระยะสั้น ทำให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้

สำหรับวันนี้ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องหนุนโดยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง กอปรกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะสะท้อนผ่านการขยายตัวของภาคการบริการที่ดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนมีนาคม อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58.4 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

ส่วนเอเชีย ตลาดคาดว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน หลังจากที่ทางการจีนเผชิญการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรง  อาจกดดันให้ธนาคารกลางในฝั่งเอเชียยังคงใช้นโย บายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจและติดตามพัฒนาการของสถานการณ์สงครามและภาพเศรษฐกิจจีน โดยธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% 

สำหรับในฝั่งไทย เราประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่หนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานพุ่งสูงขึ้น รวมถึงราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบ และระดับฐานราคาสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำในปีก่อนหน้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนมีนาคม พุ่งขึ้นแตะระดับ 6.0%y/y หรือ เพิ่มขึ้นราว +0.9% จากเดือนก่อนหน้า 

ทว่าการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าที่ยังไม่ได้ขยายเป็นวงกว้าง จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลักมากนัก ขณะเดียวกันการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจถูกกดดันจากผลกระทบของราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นและความไม่แน่นอนของสงคราม จะทำให้ ธปท. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโย บายที่ระดับ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวและแนวโน้มสถานการณ์สงคราม รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน ที่ยังมีการระบาดที่รุนแรงอยู่และอาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลมายังบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งเอเชียได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img