นายกฯ ประชุมบอร์ดบีโอไอ ย้ำเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า รองรับการใช้งานที่จะเติบโตขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต พร้อมปลดล็อกกิจการสถานีชาร์จอีวีเปิดโอกาส Startup ลงทุน
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.65 ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานในวาระสำคัญที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการปรับปรุงประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ของ OECD (Pillar 2) และการส่งเสริมการลงทุนปี 2565 ไตรมาสแรก ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามแผน
โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานด้วยความรอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม สำหรับการปรับปรุงประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ หรือ 750,000 คัน (เป็น BEV: Battery Electric Vehicle 375,000 คัน) ภายในปี ค.ศ. 2030 จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (CHARGING STATION) เพื่อรองรับการใช้งานที่จะเติบโตขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดำเนินการจัดทำแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลาง สำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ โดยต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือธุรกิจ Startup สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยการดำเนินงานต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงต้องมีการบูรณาการแผนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมของกระทรวงคมนาคมให้สอดคล้องกับแผนด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานด้วย เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยเร็ว
นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD (Pillar 2) โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งผลดีและผลเสีย เพื่อปรับการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและการลงทุนในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนได้อย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ