วันอังคาร, พฤศจิกายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“ซีไอเอ็มบีไทย”หั่น “จีดีพีไทยปีเสือ” เหลือ 3.1%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ซีไอเอ็มบีไทย”หั่น “จีดีพีไทยปีเสือ” เหลือ 3.1%

“ซีไอเอ็มบีไทย” มองเศรษฐกิจไตรมาส 2 เผชิญปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งโควิด-สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปรับลดคาดการณ์ จีดีพีทั้งปี จาก3.8% เหลือ3.1%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอน ทั้งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่แพง ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่นำไปสู่ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความกังวลต่อการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกไม่แค่เฉพาะไทย

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งฝั่งเอเชียเผชิญความเสี่ยงของการออกมาตรการควบคุมกฎระเบียบต่อบริษัทจีนและการกลับมาออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดอีกครั้งในประเทศจีน โดยรวมปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด

รวมทั้งการลดงบดุลเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่จะยิ่งทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอต่อเนื่องได้ในปีนี้ ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าเช่นนี้ สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจากร้อยละ 3.8 เหลือ ร้อยละ 3.1

โดยในช่วงไตรมาสสองเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 2.3 จากการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นฟื้น และเชื่อว่าคนอยู่ร่วมกับโควิดได้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยังสูงกว่าหมื่นรายต่อวัน แต่เมื่อได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอ และอาการไม่รุนแรง รัฐบาลไม่น่าจะกลับมาล็อกดาวน์อีกและพร้อมเดินหน้าเปิดประเทศและลดข้อจำกัดต่างๆ ได้มากขึ้นเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวจากต่างชาติและคนไทยในประเทศ

นอกจากนี้เชื่อว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสสอง แม้อาจชะลอไปบ้างจากไตรมาสแรก แต่ด้วยการส่งออกสินค้าเกษตร ปิโตรเคมี และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ราคาขยับขึ้นตามราคาน้ำมันน่าจะพยุงการส่งออกได้ อีกทั้งการส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และกลุ่มอาหารแปรรูปที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป และอาเซียนยังคงเติบโตได้ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะยังคงพยุงรายได้จากการส่งออกไว้

โดยค่าเงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูง ซึ่งมีผลให้ไทยขาดดุลการค้า ประกอบกับในช่วงไตรมาสสองนี้ ทางเฟดน่าจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และยิ่งจะส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย ที่ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐจะกว้างขึ้นเร็ว

แต่เราเชื่อว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีหลังและแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงปลายปี ด้านอัตราดอกเบี้ย ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปีตลอดทั้งปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img