วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเงินบาทอ่อนค่า ทุบสถิติใหม่รอบเกือบ 5 ปี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทอ่อนค่า ทุบสถิติใหม่รอบเกือบ 5 ปี

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าทุบสถิติใหม่รอบเกือบ 5 ปี หลังดอลลาร์แข็ง ขณะที่ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลการแพร่ระบาดโควิดในจีนฉุดเศรษฐกิจหดตัว จับตาประกาศงบไตรมาส 1/65

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบเกือบ 5 ปี นับจากก.ค.ปี 60 หลังดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า โดยแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ยังอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง 

ทั้งนี้ ควรจับตาแนวต้านสำคัญในช่วง 34.15-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ก็อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดภาวะ panic ในฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งซื้อเงินดอลลาร์ จากความกังวลว่าเงินบาทอาจอ่อนค่ารุนแรงได้อีก 

โดยโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าหนักได้นั้น เรามองว่า ต้องเห็นภาพฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกรุนแรงทั้งฝั่งหุ้นและบอนด์ ซึ่งปัจจุบัน แรงขายสินทรัพย์ไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้รุนแรงนัก หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯและไทย ปรับตัวขึ้นหนัก 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์

โดยผู้เล่นในตลาดการเงินต่างอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากหลายปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากดดันตลาดการเงินพร้อมกัน อาทิ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก

ปัญหาความไม่แน่นอนของสงคราม และปัจจัยเสี่ยงล่าสุด อย่างความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนสะดุดลง หากทางการจีนเดินหน้าใช้นโยบาย Zero COVID และ Lockdown เมืองปักกิ่งเพิ่มเติม หลังเริ่มมีการรายงานยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ภาวะดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลงรุนแรง

อย่างไรก็ดี ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปิดตลาดปรับตัวขึ้นได้ แม้ว่าในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดการเงินจะปิดรับความเสี่ยงรุนแรงตามบรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +1.29% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.57% 

โดยการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมาจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดหลังดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ย่อตัวลงแตะแนวรับสำคัญ (Buy on Dip) โดยเฉพาะแรงซื้อหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ที่กำลังจะประกาศผลประกอบการในสัปดาห์ อาทิ Alphabet (Google) และ Microsoft เป็นต้น ซึ่งเรามองว่า ผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงกว่า -2.15% กดดันโดยความกังวลว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอาจได้รับผลกระทบหนัก หากเศรษฐกิจจีนชะลอลงมากกว่าคาดจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่รายได้ส่วนใหญ่นั้นมาจากจีน อาทิ Kering -4.4%, Hermes -3.9%, Louis Vuitton -3.8% 

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงินและธนาคาร อาทิ Credit Suisse, UBS, Deutsche Bank

อนึ่งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง พันธบัตรรัฐบาลอีกครั้ง หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.82% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว sideways ได้ หากผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ในขณะที่บอนด์ยีลด์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าตลาดก็ได้รับรู้ภาพดังกล่าวไปมากแล้ว

 ตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101.7 จุด หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงิน 

ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้สกุลเงินส่วนใหญ่ปรับตัวอ่อนค่าลง อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 1.07 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 1.274 ดอลลาร์ต่อปอนด์  

ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าแตะระดับ 127.8 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมาจากการที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าตลาดจะพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงหนักก็ตาม ทั้งนี้ เราคาดว่าผู้เล่นบางส่วนอาจต้องการถือทองคำเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีโอกาสแกว่งตัว sideways เหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แต่ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านแนวโน้มค่าจ้างที่อยู่ในระดับสูงตามความต้องการแรงงาน จะช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนเมษายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 108.5 จุด 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Alphabet (Google), Intel, Microsoft เป็นต้น โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้บ้าง 

ขณะที่เอเชีย ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน ว่าทางการจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ และทางการจีนจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดกับเมืองใหญ่ อย่าง ปักกิ่ง หรือไม่ เพราะหากมีการ Lockdown ปักกิ่งเกิดขึ้นก็อาจกดดันให้ เศรษฐกิจซบเซาลงหนัก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอาจเห็นภาพตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงต่อ พร้อมกับการอ่อนค่าของเงินหยวน (CNY) ตามการไหลออกของฟันด์โฟลว์เพิ่มเติมได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img