กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้แล้วเสร็จไปกว่า 99.98% คาดจะสามารถเปิดให้บริการการเดินรถได้บางช่วงเฉพาะในเส้นทางที่มีระบบอาณัติสัญญาณ ร่นเวลาเดินทางจาก 5 ชม. เหลือเพียง 2 ชม.ครึ่ง
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางคู่สายใต้ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่เป็น Project Pipeline ที่มีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานะความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 โครงการ ดังนี้
1.ช่วงนครปฐม – หัวหิน แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่
-สัญญาที่ 1 (นครปฐม – หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 97.087
-สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล – หัวหิน) ระยะทาง 76 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 94.828
2.ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 76 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 94.828
3.ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่
สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงาน ร้อยละ 85.073
สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย – ชุมพร) ระยะทาง 79 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 87.128
โดยถ้านับภาพรวมของผลการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ (ช่วงนครปฐม – ชุมพร) ถือว่าแล้วเสร็จไปกว่า 99.98% ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการการเดินรถทางคู่สายใต้ (นครปฐม – ชุมพร) ได้บางช่วงเฉพาะในเส้นทางที่มีระบบอาณัติสัญญาณ เท่านั้น และจะเป็นการเดินรถระบบกึ่งอัตโนมัติจากต้นทาง กทม. มายังสถานีหัวหิน ซึ่งการเดินรถจะเร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการคืนทางเดินรถให้แก่ประชาชน และจะมึการเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนั้น ยังมีการก่อสร้าง “สถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสถานียกระดับที่มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นหนึ่งในงานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม – ชุมพร (ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน)โดยสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่นี้ เป็นโครงสร้างยกระดับ มีที่ทำการและที่พักคอยอยู่ชั้นล่าง ชานซาลาอยู่ชั้นบน การออกแบบยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของสถานีเดิมที่ออกแบบตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย
ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ถัดจากสถานีหัวหินเดิไปทางทิศใต้ โดยปัจจุบันมีความคืบหน้างานก่อสร้างร้อยละ 80 งานตกแต่งสถาปัตยกรรมร้อยละ 30 และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องของสถานีร้อยละ 20 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2565 ทั้งนี้อาคารสถานีเดิมยังคงอนุรักษ์ไว้ โดยมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และทางรถไฟที่ผ่านสถานีเดิมยังใช้งานอยู่ โดยไว้สำหรับขบวนรถสินค้าและขบวนรถพิเศษในโอกาสสำคัญ