“รุ่ง” เผยเงินสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ลุ้นดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯเปิดสถิติตั้งแต่ 1 พ.ค.-27 พ.ค. เงินบาทแข็งค่าอันดับ 3 หลังเงินทุนไหลเข้าหุ้น-พันธบัตรกว่า 2.51 หมื่นล้าน
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ติดตามคือดัชนี ISM ภาคการผลิตและบริการรวมถึง การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ (คาด +3.3 แสนตำแหน่ง)
ทั้งนี้เห็นว่าสกุลเงินดอลลาร์อาจปรับฐานลงต่อเนื่องหากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯบ่งชี้ถึงการสูญเสียแรงส่งเชิงบวก ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อการคาดการณ์ของตลาดที่มีต่อระดับคุมเข้มนโยบายของเฟดและบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ
ส่วนการเคลื่อนไหวสกุลภูมิภาคตั้งแต่ 1พ.ค.-27 พ.ค.ที่ผ่านมาพบว่าดอลลาร์-สิงคโปร์แข็งค่ามากสุด 0.94% รองลงมาคือ ดอลลาร์-ไต้หวัน 0.39% บาท-ไทย 0.25% วอน-เกาหลีใต้ 0.09% ยกเว้น หยวน-จีนอ่อนค่า 1.87% รูปี-อินเดีย 1.55% ดอง-เวียดนาม 1% ริงกิต-มาเลเซีย 0.63% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 0.52% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.21%
โดยเงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มในเดือนนี้ ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้าการย่อตัวของดอลลาร์ในตลาดโลก และความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้าอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันการขาดทุนเนื่องจากช่วงนี้ผันผวนเร็ว
สำหรับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายพบว่า ต่างชาติ ซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 9.6 พันล้านบาทและพันธบัตรไทยซื้อสุทธิ 1.55 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี อาจต้องระวังกระแสเงินร้อนหรือเงินเข้ามาพักในบอนด์ระยะสั้น ซึ่งมีลักษณะเข้าออกเร็ว
และสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินและช่วงนี้ถือว่าผู้นำเข้า พอหายใจหายคอได้บ้างเพราะหากบาทอ่อนจะซ้ำเติมต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณท์อื่นๆเช่น ปุ๋ยเคมี เป็นต้น
“ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ คาดปรับขึ้น 0.5% ในเดือน มิ.ย.หากไม่มีเซอร์ไพรส์ เงินบาทไม่น่าจะอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญ จากที่ก่อนหน้านี้ตลาดคาดระดับดอกเบี้ยเฟดไว้ค่อนข้างดุดัน”น.ส.รุ่งกล่าว