“สนค.” เผยเงินเฟ้อ 7.10 สินค้ากลุ่มพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลก ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก
โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.10 อย่างไรก็ตาม ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 2.28 (YoY)
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.40 (MoM) จากการสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน ผลไม้สด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล และเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 5.19 (AoA)
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 13.3 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งมีสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุเกิดจาก ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบนำเข้า รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ

ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 6.5 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง อาทิ สินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง และการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุน
การขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4.0 – 5.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง