“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 34.40-35.10 บาทต่อดอลลาร์ ชี้สัปดาห์ที่ผ่านมา อ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เงินไหลออกกว่า 1.6 หมื่นล้าน
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย แจ้งว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังขยับแข็งค่าช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามสกุลเงินเอเชีย นำโดยเงินหยวนซึ่งได้รับอานิสงส์จากความหวังว่าแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีน น่าจะทยอยคลายตัวลงในระยะข้างหน้าหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงต่อมาสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ที่ปรับตัวขึ้นเหนือ 3.00% รับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้การเคลื่อนไหวเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังไม่ได้รับแรงหนุนมากนัก แม้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สะท้อนสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลัง กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ กับความเสี่ยงของการขยับสูงขึ้นของเงินเฟ้อ
ในวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (2 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,890 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 10,711 ล้านบาท (เป็นการขายสุทธิพันธบัตร 5,022 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 5,689 ล้านบาท) รวมเป็นเงินไหลออกกว่า 16,600 บาท
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.10 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ประมาณการเศรษฐกิจและ dot plot ของเฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOE และ BOJ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน พ.ค. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราการว่างงานด้วยเช่นกัน