แบงก์กรุงศรีอยุธยาเผยการเคลื่อนไหวสกุลเงินภูมิภาค 6 เดือนอ่อนค่ายกแผง หลังเฟดเร่งสปีดขึ้นดอกเบี้ย บาทอ่อนรั้งอันดับ 5
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า การเคลื่อนไหวสกุลภูมิภาคช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ที่ผ่านมาพบว่า วอน-เกาหลีใต้อ่อนค่าสุด 8.50% รองลงมาคือเปโซ-ฟิลิปปินส์ 7.3%, ดอลลาร์-ไต้หวัน 6.9%, รูปี-อินเดีย 5.90%, บาท-ไทย 5.5%, ริงกิต-มาเลเซีย 5.5%, หยวน-จีน 5.10%, รูเปียห์-อินโดนีเซีย 4.3%, ดอลลาร์-สิงคโปร์ 3% และดอง-เวียดนาม 2%
โดยเงินบาทอ่อนค่าเป็นอันดับ 5 เกาะกลุ่มภูมิภาค แต่หากดูเงินทุนเคลื่อนย้าย 6 เดือนพบว่า ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 111,829 ล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตร 951 ล้านบาท โดยในเดือนมิ.ย.ขายสุทธิหุ้นไทย 30,187 ล้านบาทขายสุทธิพันธบัตร 42,167 ล้านบาท (มาจากบอนด์ที่ครบอายุ 26,736 ล้านบาท)
สำหรับทิศทางเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.25-35.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแนวโน้มอ่อนค่า เนื่องจากนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สู่ภาวะถดถอย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงกดดันการบริโภคครัวเรือนลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เงินบาททำนิวไฮครั้งใหม่รอบ 5 ปี 6 เดือน นับจากม.ค.60 หลังจากสหราชอาณาจักรประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากระดับ 54.6 ในเดือนพ.ค. กดเงินเงินปอนด์อ่อนค่าเทียบดอลลาร์และยูโร หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ทั้งนี้มองว่า เงินบาทยังอ่อนค่าหากธนาคารกลางต่างประเทศขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยเฉพาะเฟด หากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น และส่งผลให้นักลงทุนโยกเงินไปลงทุนหาผลตอบแทนสูง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ดังนั้นมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ครั้งละ 0.25% จะส่งให้ดอกเบี้ยนโยบายแตะที่ 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ขณะที่เฟดคาดว่าดอกเบี้ยสิ้นปีดอกเบี้ยจะแตะที่ 3.5%
สำหรับปัจจัยที่ติดตามคือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือน
มิ.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟด วันที่ 14-15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อดูการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือน มิ.ย. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ค.ของยุโรป ท่ามกลางความผันผวนของตลาดโลก ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปล่อยธุรกิจเผชิญความเสี่ยงกับความผันผวนของค่าเงินบาทหากสวิงขึ้นลงแบบไร้ทิศทางผู้เสียหายคือผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง