ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์แนวโน้มผันผวนอ่อนค่าหากเงินดอลลาร์แข็ง ด้านไอเอ็มเอฟหั่นจีดีพีโลก เตือนปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก-เสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว ไม่เปลี่ยน แปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยแนวโน้มค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้านใกล้ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้หากเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแรงกดดันต่อเงินยูโร (EUR) จากปัญหาวิกฤติพลังงาน
นอกจากนี้เรามองว่าต้องระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทที่อาจสูงขึ้นมากในช่วงระหว่างการรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของตลาดการเงินไทย ซึ่งปริมาณการซื้อ ขาย ในตลาดอาจเบาบางลงกว่าช่วงปกติ
อย่างไรก็ดี หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง เงินดอลลาร์ก็สามารถจะทยอยอ่อนค่าลงได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เงินบาทเริ่มมีทิศทางกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่ยังคงต้องระวังความเสี่ยงในกรณีที่สินทรัพย์ฝั่ง EM Asia เผชิญแรงเทขาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากทางการจีนตัดสินใจใช้มาตร การ Lockdown เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์
ผู้เล่นในตลาดต่างอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) หลังจากที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าลง
พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในปีหน้า จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อสูง การขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนกรกฎาคมที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 95.7 จุด แย่กว่าคาด และการปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Walmart ได้ยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้คน ซึ่งอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าปลีก อาทิ Amazon -5.2%, Walmart -7.6% กดดันให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.15%
ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ผันผวนต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลวิกฤติพลังงาน หลังที่บริษัท Gazprom ของรัสเซียเปิดเผยว่าจะลดปริมาณการส่งแก๊สผ่านท่อ Nord Stream 1 เหลือเพียง 20% ของปริมาณการส่งในช่วงปกติ ทำให้บรรดารัฐบาลของยุโรปต่างเห็นชอบที่จะควบคุมการใช้พลังงาน ด้วยการลดการใช้แก๊สธรรมชาติลง 15% ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอตัวลงหนักจากวิกฤติพลังงานได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเข้ามาถือหุ้นในกลุ่ม Defensive มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Healthcare (Novo Nordisk +2.8%, Roche +1.3%)
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว แต่ผู้เล่นบางส่วนก็ยังคงรอผลการประชุมเฟดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนคงมุมมองว่าเฟดมีโอกาสราว 25% ในการขึ้นดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมครั้งนี้ ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 2.80% ซึ่งเราคาดว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ขณะที่ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 107.2 จุด หนุนโดยภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) จากความกังวลวิกฤติพลังงาน ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง อนึ่งการปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการออกมาดีกว่าคาดก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงหรือแกว่งตัว sideways ได้
นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ตลาดจะให้ความสนใจ คือ ผลการประชุมเฟดที่จะทราบในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้ โดยเราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากขึ้น กอปรกับเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางที่ลดลงต่อเนื่อง จะทำให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเรามองว่า หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง ก็อาจบอกได้ว่า นโยบายการเงินเฟดได้มาถึงจุด Peak Hawkishness เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงได้