พาณิชย์เผยธุรกิจรถเช่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์เฟื่องฟู 6 เดือน ขอจัดตั้งบริษัท 76 ราย นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์ รองลงมาคือญี่ปุ่น-รัสเซีย
นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนของปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน)มีจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 76 ราย เพิ่มขึ้น 40.74% ทุนจดทะเบียน 132.95 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้ง ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีต่อธุรกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นและคึกคักเพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มาจากบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการครอบครองรถยนต์ จากการซื้อเป็นการเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในสำนักงาน เป็นการลดภาระทางการเงินในการซื้อรถยนต์ และลดภาระในการซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ
ทั้งนี้ยังพบว่ามีการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ได้หันมาเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อใช้ในงานรับส่งพัสดุ สิ่งของ หรือผู้โดยสาร เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และไม่ต้องกังวลเรื่องการบำรุงรักษารถไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับจำนวนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่ระยะเวลา 6 เดือน เพิ่มขึ้น 14% และตัวเลข ณ เดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนกว่า 944 สถานี กระจายอยู่เมืองใหญ่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีการเพิ่มจุดรับรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่า เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น และยังเปิดโอกาสให้กับ ผู้ที่มีรถยนต์ด้วยการให้ประชาชนทั่วไปเป็นหุ้นส่วน นำรถยนต์ส่วนตัวมาให้เช่าเป็นรายวัน ซึ่งบริษัทจะเก็บ ค่าคอมมิชชั่นจำนวนหนึ่ง และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของรถยนต์ให้สามารถเลือกวันที่ต้องการจะให้เช่า และสามารถติดตามรถยนต์ของตนเองบนแอปพลิเคชั่น ที่จัดทำขึ้น และมีประกันภัยรถยนต์ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับเจ้าของรถยนต์ที่มาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการประกอบธุรกิจ เป็นการหารายได้พิเศษ และใช้ประโยชน์จากรถยนต์อย่างคุ้มค่า
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) มีธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 2,045 ราย คิดเป็น 0.24% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มูลค่าทุน 23,239.85 ล้านบาท คิดเป็น 0.11% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ 609 ราย ชลบุรี 166 ราย ภูเก็ต 166 ราย เชียงใหม่ 164 ราย สุราษฎร์ธานี 98 ราย สมุทรปราการ 82 ราย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจ นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 18,878.20 ล้านบาท คิดเป็น 81.23% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น ทุน 3,963.18 ล้านบาท คิดเป็น 17.05% รัสเซีย ทุน 69.55 ล้านบาท คิดเป็น 0.30% ฝรั่งเศส ทุน 56.14 ล้านบาท คิดเป็น 0.24% และสัญชาติอื่นๆ ทุน 272.78 ล้านบาท คิดเป็น 1.17%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจมีรายได้โดยเฉลี่ย 46,500 ล้านบาทต่อปี (รายได้รวม ปี 2562 จำนวน 55,398.50 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 44,101.63 ล้านบาท ลดลง 20% และ ปี 2564 จำนวน 39,991.03 ล้านบาท ลดลง 9%) ขณะที่ผลประกอบการ มีกำไรโดยเฉลี่ย 3,230 ล้านบาท ต่อปี (กำไรรวม ปี 2562 จำนวน 5,534.46 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 2,507.14 ล้านบาท ลดลง 55% และ ปี 2564 จำนวน 1,651.57 ล้านบาท ลดลง 34%)