วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เงินบาท”กลับทิศอ่อนค่า ตลาดกังวลปมขัดแย้งจีน-สหรัฐฯปะทุ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาท”กลับทิศอ่อนค่า ตลาดกังวลปมขัดแย้งจีน-สหรัฐฯปะทุ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจบานปลายไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหาร ขณะที่ยอดการเปิดรับสมัครงานของสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย.ได้ลดลงสู่ระดับ 10.7 ล้านตำแหน่ง น้อยกว่าตลาดคาดการณ์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย ปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ  36.22 บาทต่อดอลลาร์  “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ตลาดการเงินโดยรวมพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผันผวนสูงขึ้น ท่าม กลางความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจบานปลายไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหารได้

นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงถูกกดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอาจชะลอตัวลงมากขึ้นและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยในที่สุด โดยล่าสุด ยอดการเปิดรับสมัครงาน (JOLTs Job Openings) ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน ได้ลดลงสู่ระดับ 10.7 ล้านตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งทั้งความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก ได้กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.67%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทหากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังไม่คลี่คลายและตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เงินบาทก็อาจถูกกดดันให้ผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ 

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า แม้จะเผชิญความเสี่ยงดังกล่าว แต่นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้เทขายหุ้นไทยอย่างชัดเจน เหมือนกับตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก นอกจากนี้มองว่า บรรดาผู้ส่งออกอาจเริ่มทยอยมารอขายเงินดอลลาร์มากขึ้น โดยเฉพาะในโซน 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวอาจจะเป็นแนวต้านในช่วงนี้ได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.35 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนตลาดยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -0.32% ท่ามกลางแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนจากความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนัก หลังทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งสหรัฐฯและยูโรโซนต่างออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนบางส่วนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของอังกฤษ BP +2.8%

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะปิดรับความเสี่ยง ทว่าถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และยังคงไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่สภาวะถดถอย ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ในปีนี้ จนกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2.75% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นบางส่วนที่ได้เก็งกำไรการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้า

ขณะที่ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 106.4 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในจังหวะที่ตลาดกังวลความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,774 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังไม่สามารถทะลุโซนแนวต้านที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับวันนี้  ตลาดจะรอจับตาท่าทีของทั้งฝั่งสหรัฐฯ และจีน ต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายล่าสุด ซึ่งหากไม่มีการเผชิญหน้าทางทหารเกิดขึ้นอย่างที่ตลาดกังวล เราคาดว่า ตลาดการเงินก็พร้อมจะทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงและกลับมาให้ความสนใจรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดมากขึ้น

โดยในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจนั้น ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งตลาดมองว่า ดัชนีอาจลดลงสู่ระดับ 53.7 จุด สะท้อนภาวะการขยายตัวในอัตราชะลอมากขึ้นของภาคการบริการสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูง รวมถึงการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ได้กดดันให้ตลาดอสังหาฯ และการใช้จ่ายของผู้คนชะลอตัวลงมากขึ้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img