“บสย.” นัดหารือสถาบันการเงินปรับแพคเกจสินเชื่อช่วยเหลือพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อยประกอบธุรกิจวงเงิน 5 หมื่นบาทไม่เกิน 1 แสนบาท
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.เตรียมหารือกับสถาบันการเงินเพื่อปรับแพคเกจสินเชื่อให้เล็กลง อาจอยู่ที่ 5 หมื่นบาท ไม่เกิน 1 แสนบาท หลังจากที่ลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่พบว่าผู้ประกอบการรายย่อยมีขนาดความต้องการสินเชื่อเฉลี่ย 3-5 หมื่นบาทต่อราย วงเงินเล็กลงมากขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 1.2 แสนบาทต่อราย เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อย เพียงต้องการสภาพคล่องให้หล่อเลี้ยงธุรกิจเพื่อผ่านช่วงนี้ไปก่อน ไม่มีการลงทุนขยายกิจการใหม่ นอกจากนี้ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์เริ่มหันมาหากลุ่มลูกค้าที่เคยอยู่ในกลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงินกันมากขึ้น
ทั้งนี้ในปี 2564 ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด บสย.ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีทุกกลุ่มรวมกันกว่า 2.2 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มเปราะบางมากถึง 73% ขณะที่ปัจจุบัน บสย.มียอดค้ำประกันสะสมรวมกัน 1.3 ล้านล้านบาท สามารถช่วยเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้มากถึง 7.4 แสนราย และช่วยรักษาการจ้างงานมากกว่า 11 ล้านคน สามารถสร้างผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ 5.7 ล้านล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้ประกอบการในกลุ่มเปราะบางอีกราว 3 ล้านราย ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จดทะเบียนในระบบราว 3 ล้านราย ขณะที่อีกจำนวนเท่ากันคือ 3 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการอยู่นอกระบบ เช่น พ่อค้าแม้ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น ผู้ประกอบการอยู่นอกระบบเหล่านี้มักมีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล มีการพัฒนาและแพร่หลายมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินทำได้ง่ายขึ้น บสย.ในฐานะหน่วยงานช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ อาจขาดหลักประกันเพียงพอในการได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จะนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาร่วมในระบบงานของ บสย. เพื่อให้ผู้ประกอบการนอกระบบสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น จะทำผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ต่างๆ ที่มีการพัฒนาอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น แอพพลิเคชั่นเป๋าตุง และถุงเงิน สำหรับผู้ประกอบการรับเงินเข้า และแอพพ์เป๋าตัง สำหรับบุคคลธรรมดาใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า และรวมถึงแอพพ์มายโม ของธนาคารออมสิน เป็นต้น