ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าทุบสถิติใหม่รอบเกือบ 6 สัปดาห์หลังดอลลาร์อ่อน จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ประชุมกนง.วันนี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” นิวไฮรอบเกือบ 6 สัปดาห์ นับจากเดือนก.ค.จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวนและแกว่งตัวในกรอบที่กว้าง เนื่องจากในวันนี้จะมีถึงสองเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดค่าเงิน ทั้งการประชุม กนง. และรายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเรามองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้ หากมีคณะกรรมการ กนง. บางส่วน อาทิ 3 เสียง โหวตสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ทำให้ตลาดเริ่มกลับมามองว่า กนง. อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆ ไปได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว อาจเห็นแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารจากนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกับโฟลว์ซื้อบอนด์ระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงค่ำ เงินบาทก็อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.45 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ หุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor ได้ปรับตัวลดลงแรง หลังจากผู้ผลิตชิพรายใหญ่อย่าง Micron Tech. (-3.7%) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการ จากแนวโน้มความต้องการใช้ชิพที่จะลดลง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ Nvidia (-4.0%) ที่ได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการจากความกังวลแนวโน้มธุรกิจเกมเข้าสู่ภาวะซบเซา จนอาจกระทบต่อยอดขายชิพสำหรับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ซึ่งแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ได้กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงกว่า -1.19% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลงราว -0.42%
ส่วนยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงราว -0.67% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงหนักและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ ตลาดยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor รวมถึงหุ้นเทคฯ เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ นำโดย ASML -5.4%, Adyen -2.0% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมถึงหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare
ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่รีบปรับสถานะการถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 2.78%
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนหนักในระหว่างตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI โดยหากข้อมูลเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อาจยิ่งหนุนให้ตลาดเชื่อว่าเฟดจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หรือมากกว่า ในการประชุมเดือนกันยายน ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นอีกได้บ้าง แต่เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจถูกจำกัดด้วยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนัก
ขณะที่ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.3 จุด อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนเชื่อว่าเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อเนื่อง จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดยังคงผันผวนและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง อนึ่ง การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นกลับสู่โซน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำที่ผ่าน อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตา คือ ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งตลาดจะรับรู้ในช่วงเวลา 14.00 น. ส่วนในช่วงค่ำราว 19.30 น. ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสหรัฐฯ
โดยเราประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย จะส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% และมองว่า กนง. จะส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อโดยที่ไม่ให้กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
อนึ่ง แม้เราจะมองว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 1.00% ในปีนี้ แต่หาก กนง. กังวลแนวโน้มเงินเฟ้อมากขึ้น อาทิ เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางเร่งตัวขึ้น หรือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยดีกว่าที่ กนง. คาดไว้ ก็มีโอกาสที่ กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 3 ครั้ง สู่ระดับ 1.25% ในปีนี้ ได้เช่นกัน ซึ่งต้องรอติดตามผลการประชุม กนง. และติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด
ส่วนสหรัฐฯ ตลาดมองว่า แม้ว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคม จะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐฯ ปรับตัวลงราว -8% และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเหลือ +0.2%m/m หรือราว +8.7%y/y ทว่าภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและยังมีความตึงตัวอยู่มากนั้น ยังคงหนุนการเติบโตของรายได้ที่เร่งตัวขึ้น
นอกจากนี้ แรงหนุนเงินเฟ้อจากค่าเช่าบ้านก็ยังคงมีอยู่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อาจเพิ่มขึ้น +0.5%m/m หรือราว +6.1%y/y ทำให้ Core CPI ยังมีแนวโน้มขาขึ้นและทำให้เฟดอาจยังคงจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง