วันศุกร์, พฤศจิกายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“ดร.นฤมล”คาดกนง.เล็งขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบปีนี้ ห่วงกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบ
- Advertisment -spot_imgspot_img

“ดร.นฤมล”คาดกนง.เล็งขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบปีนี้ ห่วงกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบ

‘ดร.นฤมล’ คาด กนง.เล็งขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบปีนี้ ห่วงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยที่มีรายได้น้อย  ความสามารถในการชำระหนี้มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.65 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์ Facebook แสดงความเห็นถึงกรณีมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 10 สิงหาคม เห็นชอบปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% เป็น 0.75% เพิ่มขึ้นเพียง 0.25% ตามเสียงส่วนใหญ่ 6 ท่าน อีก 1 ท่านเห็นว่าควรขึ้น 0.5% เพราะเกรงว่า จะต้องไปเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น เหตุผลหลักที่ปรับขึ้นเพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจําเป็นลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ กนง.เองยังเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินกว่าประเทศอื่นไปมาก อย่างเช่น ธนาคารกลางอังกฤษคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ถ้าไม่สามารถลดลงเข้ากรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในภายหลัง อย่างไรก็ดี กนง. ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด

ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ต้องขอบคุณธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และสมาคมธนาคาร ที่ต่างออกมาประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยประคองภาระหนี้ของผู้กู้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารทั้งหลายคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปให้ได้ไปถึงแค่สิ้นปีนี้ นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กนง. อาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบในปีนี้เช่นกัน 

ดังนั้นที่ยังน่าเป็นห่วง คือ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ความสามารถในการชำระหนี้มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น รัฐบาลคงจะร่วมกับธนาคารดําเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง  และน่าจะออกมาตรการเสริมเฉพาะจุดเพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยที่มีรายได้น้อยและผันผวน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เช่น โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ยังแนะนำผู้อ่านที่มีภาระหนี้ ก็ควรหาความรู้เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง) ธปท โทร.1213  https://www.1213.or.th/th/Pages/debtrestructuringprojects.aspx…

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img