ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทย ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่า เหตุผู้เล่นในตลาดลดการถือสินทรัพย์ปลอดภัยลง จากความหวังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนักหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.47 บาทต่อดอลลาร์ ได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด
อย่างไรก็ดี ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทที่อาจมาจากเงินดอลลาร์ได้ในช่วงระหว่างตลาดรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ รวมถึงช่วงตลาดรับรู้รายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ซึ่งเงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดกลับมามองว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ได้ชะลอตัวลงจนน่ากังวล แต่เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเฟดที่ต้องแก้ไข
ทั้งนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 35.10-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางของตลาดการเงินมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.45 บาท/ดอลลาร์
รายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ Walmart และ Home Depot ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้ช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ โดยรวมดีขึ้นและบรรดาผู้เล่นในตลาดยังคงกล้าที่จะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้ดัชนี Dow Jones ปิดตลาด +0.71% ส่วน S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.19%
อย่างไรก็ดี รายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกที่ดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองที่ดีต่อแนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนในสหรัฐฯและคลายกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 2.85% กดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.19%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวขึ้นราว +0.16% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด นำโดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งสะท้อนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ -55.3 จุด แย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยซื้อหุ้นในกลุ่ม Defensive อาทิ หุ้นกลุ่มเทเลคอม (Telefonica +2.7%) และกลุ่มการแพทย์ (Sanofi +1.7%) มากขึ้น
ขณะที่ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 106.4 จุด หลังผู้เล่นในตลาดลดความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้าง จากความหวังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนักหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดยังสอดคล้องกับการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับ 134.3 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงมาบ้าง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,789 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกรกฎาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการบริโภคของผู้คน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยตลาดมองว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวได้ราว +0.1%m/m หรือ +0.3%m/m
ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหาร ซึ่งการขยายตัวต่อเนื่องของยอดค้าปลีกนั้นหนุนโดย ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนยังดูสดใส สะท้อนจากรายงานยอดขาย Amazon Prime ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคมที่แข็งแกร่ง และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (ซึ่งจะทราบในช่วงเวลา 01.00 น. ตามเวลาในประเทศไทยของวันพฤหัสฯ) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด หลังที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ โดยรวมเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้นจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะเงินเฟ้อทั่วไป (CPI)
ขณะที่ยุโรปตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ (CPI) เดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 9.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ก็เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 6.0% เช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน