วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“น้ำมันแพง”ทำคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรม ประหยัด-ท่องเที่ยวน้อยลง-ลดฟุ่มเฟือย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“น้ำมันแพง”ทำคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรม ประหยัด-ท่องเที่ยวน้อยลง-ลดฟุ่มเฟือย

“พาณิชย์” เผยโพลสำรวจความเห็นประชาชนช่วงน้ำมันแพง ส่วนใหญ่ประหยัดค่าใช้จ่ายใช้รถโดยสารสาธารณะเพิ่ม-ลดใช้สินค้าฟุ่มเฟือย-เดินทางท่องเที่ยวน้อยลง เร่งหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 8,363 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปรับตัวในภาวะน้ำมันแพง พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมัน โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ตามด้วยเปลี่ยนชนิดพาหนะ/วิธีการเดินทาง และเปลี่ยนชนิดน้ำมัน 

สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่าย พบว่า ส่วนใหญ่ใช้สินค้าฟุ่มเฟือยลดลง ตามด้วยเดินทางท่องเที่ยว และบริโภคอาหารนอกบ้านน้อยลง หากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงยืดเยื้อ ส่วนใหญ่จะหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ทั้งนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและดูแลค่าบริการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม กระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว และสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแล้ว ยังช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้

1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ในภาวะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง ผู้ตอบแบบสอบถามมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะด้านการเดินทาง 

3 อันดับแรก คือ ใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง (ร้อยละ 29.23) เปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง (ร้อยละ 17.15) และเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์ (ร้อยละ 10.82)

•เมื่อพิจารณาตามช่วงรายได้ พบว่า

-ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง

มากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ

-ผู้ที่มีรายได้ในช่วง 10,001 – 100,000 บาท/เดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลงมากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์

-ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาท/เดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลงมากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์ และเปลี่ยนเวลาเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรแออัด

•เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า

-เกษตรกร นักศึกษา ไม่ได้ทำงาน และอาชีพอิสระ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลงมากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ

-พนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการ และพนักงานเอกชน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลงมากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์

•เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ สาเหตุน่าจะมาจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด และเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ ดังนั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและดูแลค่าบริการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

2.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน 3 อันดับแรก คือ ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า (ร้อยละ 29.87) ลดการเดินทางท่องเที่ยว (ร้อยละ 16.92) และลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน (ร้อยละ 16.25)

•เมื่อพิจารณาตามช่วงรายได้ พบว่า

-ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน รายได้ในช่วง 10,001 – 40,000 บาท/เดือน และรายได้มากกว่า 100,000 บาท/เดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คล้ายกัน คือ ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วย ลดการเดินทางท่องเที่ยว และลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน

-ผู้ที่มีรายได้ในช่วง 40,001 – 100,000 บาท/เดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วย ลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน และลดการเดินทางท่องเที่ยว

•เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า

-เกษตรกร มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วย ลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน และลดการเดินทางท่องเที่ยว

-พนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการ พนักงานเอกชน ไม่ได้ทำงาน และอาชีพอิสระ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วย ลดความถี่ในการบริโภคสินค้าประจำวัน และลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน

-นักศึกษา มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วย ลดความถี่ในการบริโภคสินค้าประจำวัน และลดกิจกรรมบันเทิง

•เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้ในช่วง 40,000 – 50,000 บาท/เดือน และกลุ่มพนักงานของรัฐ มีสัดส่วนการลดการออมค่อนข้างต่ำ (ร้อยละ 0.44 และ 0.88 ตามลำดับ) สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนดังกล่าวอาจจะได้รับผลกระทบทางการเงินน้อยกว่ากลุ่มอื่น และมีรายได้ที่มั่นคง 

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาท/เดือน มีสัดส่วนการลดการเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด อาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาครัฐควรกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มผู้มีรายได้สูงอย่างต่อเนื่อง

3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว หากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงยืดเยื้อ 3 อันดับแรก คือ หาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ (ร้อยละ 54.10) เปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (ร้อยละ 15.86) และเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้ใกล้ที่ทำงาน (ร้อยละ 11.76)

•เมื่อพิจารณาตามช่วงรายได้ พบว่า

-ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 – 100,000 บาท/เดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้มากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้ใกล้ที่ทำงาน

-ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาท/เดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้มากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และอื่น ๆ (ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม)

•เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า

-เกษตรกร พนักงานของรัฐ นักศึกษา และอาชีพอิสระ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้มากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้ใกล้ที่ทำงาน

-ผู้ประกอบการ  และไม่ได้ทำงาน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้มากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้มีค่าเช่ารายเดือนถูกลง

-พนักงานเอกชน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้มากที่สุด ตามด้วย เปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้ใกล้ที่ทำงาน และเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้มีค่าเช่ารายเดือนถูกลง

•เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้มากกว่า 40,000 บาท/เดือน และกลุ่มผู้ประกอบการ มีสัดส่วนการเปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างมาก (มากกว่าร้อยละ 20) สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนดังกล่าวมีกำลังซื้อ และการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ นอกจากมาตรการของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ทั้งลดภาษีนำเข้า ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไข จะสามารถช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ได้แล้ว ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และจูงใจให้คนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งนี้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการปรับตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการใช้น้ำมันโดยตรง การลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น และหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ 

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการให้เหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแล้ว ยังกำกับดูแลสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า ชา และกาแฟ รวมถึงอาหารนอกบ้านต่าง ๆ ให้มีราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ เพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการครองชีพควบคู่กันไป

นอกจากนี้ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและดูแลค่าบริการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเปราะบาง (กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน) เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น 

ทั้งนี้ควรกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มผู้มีรายได้สูง (มากกว่า 100,000 บาท/เดือน) ซึ่งมีสัดส่วนการลดการเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด และในระยะยาวควรมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อการอำนวยความสะดวก และจูงใจให้คนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img