“พลังงาน” เตรียมชง “กพช.” เดือนพ.ย.นี้ ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้คนไทย พร้อมกางตรึงค่าไฟฟ้างวดแรกปี 66 (ม.ค.-เม.ย.) อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แย้มดูแลผู้ใช้ฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา “ถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานโลก สะเทือนถึงไทย” ว่า ประเทศไทยและทั่วโลก ต่างเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ส่งผลให้การใช้พลังงานลดลง และผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างมาก แต่แล้วเมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงในช่วงปลายปี 2564 ความต้องการใช้น้ำมันก็กลับมาเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูกซ้ำเติมจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก.พ.2565 ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นไปอีก 122-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยน้ำมันดีเซล ทำสถิติสูงสุดไปแตะ 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนมี.ค.2565 น้ำมันดิบ แตะระดับ 145 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเบนซิน อยู่ที่ระดับ 160 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยในช่วงวิกฤติดังกล่าวส่งผลให้ราคาพลังงานปรับขึ้นยกแพง ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลจึงได้งัดมาตรการที่มีอยู่ออกมารับมือ ซึ่งในช่วงนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ก็นำไปใช้อุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) และอุดหนุนต่อเป็นเวลา 2 ปี ก่อนทยอยปรับขึ้นราคาถังขนาด 15 กิโลกรัม 15 บาทต่อถัง จนล่าสุด ราคาขายปลีกตรึงไว้อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง จากต้นทุนที่แท้จริงควรปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 460 บาทต่อถัง
ด้านราคาน้ำมันดีเซล ประเทศไทยเอง ถือเป็นประเทศนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก แม้จะมีการผลิตน้ำมันจากแหล่งบนบกในประเทศได้เอง แต่ก็มีสัดส่วน อยู่ที่ 8% เท่านั้น ที่เหลือ 92% เป็นการการนำเข้า และส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง จึงต้องอ้างอิงราคาดูไบมา โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทางกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาตรการเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาทต่อลิตร ขณะที่กระทรวงพลังงาน ก็ได้ปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซล จากบี 7 , บี 20, บี 10 เหลือแค่ บี 5 ซึ่งในช่วงเวลานั้นเงินกองทุนน้ำมันฯ ยังไม่มีสถานะติดลบ ทางกลุ่มรถบรรทุกก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐตรึงราคาดีเซล รัฐบาลก็ได้แบ่งเงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยพยุงราคาไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน จนปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า สัดส่วน 70% ซึ่งเดิมมาจากแหล่งก๊าซฯในประเทศ ก็ต้องหันไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ หลังเกิดปัญหาเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการก๊าซฯแหล่งเอราวัณ ทำให้กำลังผลิตก๊าซฯ ลดลงเหลือประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ที่เป็นผู้บริหารจัดการแหล่งเอราวัณฯ ก็อยู่ระหว่างเร่งการผลิตก๊าซฯอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมารัฐได้ให้ กฟผ.เข้าไปช่วยแบกรับภาระจากการชะลอปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจนเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3-ไตรมาส 4 ปีนี้ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ น้ำมันดิบยังมีความต้องการใช้สูงขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้ราคาพลังงานในช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคา
โดยประเมินว่า ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ราคาก๊าซ LNG จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 40-50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ดูราคา spot LNG เดือนธ.ค.นี้ คาดว่า จะอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ มอร์แกนสแตนเลย์ คาดการณ์ปี 2566 ราคา LNG จะอยู่ 39 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และไตรมาส 2 จะปรับขึ้นไปแตะ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของ กลุ่มปริซึม ปตท. (PTT PRISM) มองว่า จะอยู่ประมาณ 39 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ก็ใช้เงินเข้าไปพยุงราคาดีเซล ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกิน 35 บาทต่อลิตร จากก่อนหน้าที่ที่ต้องเข้าไปพยุงถึง 14 บาทต่อลิตร ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน เตรียมจัดทำของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยจะเสนอในการประชุม กพช. เดือนพ.ย.นี้ พิจารณาทั้งเรื่องของ LPG และค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของค่าไฟ ยังจะดูกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อ รวมถึงจะมีมาตรการเสริมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย”
สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ หลังจากกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1 ปี (6 ต.ค.65-5ต.ค.66) นั้น ทาง สกนช.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการใช้เงิน และแผนชำระหนี้มาเสนอ คาดว่า จะออกประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้ได้ต้นเดือนพ.ย.นี้ และน่าจะได้รับเงินกู้ก้อนแรกในเดือน พ.ย.นี้ เบื้องต้น แผนเงินกู้ จะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด โดย 1-2 งวดแรก วงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท งวดต่อไปวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องกู้เงินให้เสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี แต่ในส่วนของการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี
ทั้งนี้เห็นว่าภาครัฐได้งัดมาตรการเข้ามาดูแลผลกระทบราคาพลังงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนไทยทุกคนจะต้องตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และต้องเริ่มเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพราะค่าไฟฟ้าจะไม่ใช่ของถูกอีกต่อไป ดังนั้น กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ก็ต้องเริ่มการประหยัดอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น แอร์ และขยายสู่ระดับสาธารณะ เช่น ญี่ปุ่น ที่เปิดแอร์ 28 องศาในอาคาร เป็นต้น แต่ที่สำคัญสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูงจะต้องมุ่งเรื่องการประหยักพลังงานอย่างจริงจัง ก็จะช่วยประเทศประหยัดต้นทุนนำเข้าเชื้อเพลิงลงได้
“ได้เตรียมดำเนินมาตรการพยุงอัตราค่าไฟฟ้าในไตรมาส 4 ปีนี้ ถึงไตรมาส 1 ของปี 2566 ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากราคา LNG สูงเกิน 25 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ ซึ่งคาดว่า จะใช้ดีเซล ประมาณ 200-300 ล้านลิตร”
นอกจากนี้มีแผนขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (ถ่านหิน) โรงที่ 8 ที่จหมดอายุ 31 ธ.ค.2564 ให้ยืดอายุต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ ในอัตราประมาณ 2-3 บาทต่อหน่วย และยังมีแผนให้นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงที่ 4 ที่ปลดระวางไปแล้ว กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา EIA คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 200 เมกะวัตต์