สนพ.เปิดข้อมูลสถิติราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซลที่จำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนประเทศไหนแพงสุด ประเทศไหนถูกสุดและไทยอยู่อันดับที่เท่าไหร่ไปดูกันเลย
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจ้งว่า สนพ.ได้รวบรวมราคาน้ำมันในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียนเพื่อเปรียบให้เห็นว่าราคาน้ำมันในไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในอาเซียนโดยเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค. – พ.ค.66) เรียงลำดับจากแพงสุดไปถูกที่สุด ได้แก่
– สิงคโปร์ 71.03 บาทต่อลิตร
– สปป.ลาว 52.21 บาทต่อลิตร
– กัมพูชา 39.31 บาทต่อลิตร
– ฟิลิปปินส์ 37.12 บาทต่อลิตร
– ไทย 35.45 บาทต่อลิตร
– เมียนมา 34.32 บาทต่อลิตร
– อินโดนิเซีย 32.68 บาทต่อลิตร
– เวียดนาม 31.83 บาทต่อลิตร
– มาเลเซีย 15.48 บาทต่อลิตร
– บรูไน 13.63 บาทต่อลิตร
ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลโดยเฉลี่ย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค. – พ.ค.66) ) เรียงลำดับจากแพงสุดไปถูกที่สุด ได้แก่
– สิงคโปร์ 60.99 บาทต่อลิตร
– สปป.ลาว 37.49 บาทต่อลิตร
– อินโดนิเซีย 34.07 บาทต่อลิตร
– ฟิลิปปินส์ 33.24 บาทต่อลิตร
– กัมพูชา 32.12 บาทต่อลิตร
– ไทย 31.94 บาทต่อลิตร
– เมียนมา 31.93 บาทต่อลิตร
– เวียดนาม 26.58 บาทต่อลิตร
– มาเลเซีย 16.24 บาทต่อลิตร
– บรูไน 7.97 บาทต่อลิตร
รายงานข่าวจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แจ้งว่า ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ)ในปี 66 เคลื่อนไหวอยู่ในระดับเฉลี่ย 80 – 90 ดอลลาร์ต่อบาร์ เรล ซึ่งปรับลดลงจากในปี 65 ที่ระดับราคาน้ำมันเฉลี่ย 96.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2564 ที่อยู่ในระดับประมาณ 69.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปี 2563 ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 42.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วง 1 ม.ค. – 11 พ.ค. อยู่ที่ 80.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้ม ที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (OPEC +) ประกอบกับจำนวนแท่นขุดเจาะทั่วโลก และปริมาณ น้ำมันดิบคงคลังที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้ อุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนและความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจจะส่งผล ต่อระดับราคาพลังงาน และปัญหาความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคยุโรปที่ต้องดำเนินการสำรองพลังงานไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาวที่จะส่งผลให้ระดับราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและประเทศพันธมิตร (OPEC+) เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติที่จะยืนยันการลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนกระทั่งสิ้นสุดปีนี้ ตามข้อตกลงของที่ประชุมเมื่อเดือนต.ค.65
ขณะเดียวกันมีประเทศสมาชิกที่สมัครใจที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกรวม 1.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กลุ่ม OPEC+ จะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงรวมทั้งสิ้น 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยจำนวนแท่นขุดเจาะทั่วโลก (operative oil rigs) เฉลี่ยสามเดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 1,448 แท่น เทียบกับ 1,785 แท่นในปี 2562 ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบ คงคลังของสหรัฐฯ เฉลี่ย 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) อยู่ที่ 838.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปี 62 อยู่ที่ 1,102.3 ล้านบาร์เรล