จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยล่าสุดที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ประชุมและกำหนดเป้าหมายใหม่ออกมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เพื่อเร่งผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
โดยวางเป้าหมายที่ท้าทายให้ในปี 2573 หรืออีก 9 ปีข้างหน้าไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ ZEV ได้ 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และในปี 2578 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ ZEV ได้ 100% ของกำลังการผลิตทั้งหมดนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่เพียงสอดคล้องกับทิศทางอุปสงค์ตลาดรถยนต์ในประเทศ รวมถึงตลาดรถยนต์หลักของโลกที่กำลังมุ่งสู่เทคโนโลยีรถยนต์ ZEV เท่านั้น แต่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์กลุ่ม ZEV ของโลกได้ในอนาคต ผ่านการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนไทยทั้งระบบขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย อย่างไรก็ตาม การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวยังขึ้นกับหลายองค์ประกอบที่ลงตัว
แผนยุทธศาสตร์ EV ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งการสร้างตลาดและสร้างห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ถึงเป้าหมาย
การส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ ZEV ดังกล่าวของภาครัฐเกิดขึ้นท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้นเรื่อยๆในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก ทั้งจากการเข้ามารุกตลาดรถยนต์ ZEV ของค่ายรถหลากหลายสัญชาติ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันมากขึ้นของผู้เล่นรายใหม่ที่อยู่นอกกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เดิม เช่น บริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ ZEV จะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมจากจำนวนชิ้นส่วนที่ลดลงมาก ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความรุนแรงในการแข่งขันจากฟากประเทศที่เตรียมดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์รูปแบบใหม่ที่จะมาเปลี่ยนโลกนี้เข้าประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือเวียดนาม เนื่องจากการเลือกที่ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ ZEV ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการมีคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่มากเท่าที่ผ่านมาในอดีต
แม้ในด้านหนึ่งจะเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการช่วยให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องมองเห็นทิศทางในการดำเนินการต่างๆชัดขึ้นเพื่อเร่งตอบรับต่อแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในอีกมุมหนึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของไทยด้วยเช่นกัน ในการทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ ซึ่งอาจต้องอาศัยองค์ประกอบที่ลงตัวในหลายด้าน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า องค์ประกอบที่ภาครัฐและเอกชนในไทยอาจจะสามารถเข้าไปจัดการได้จะมีอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ 1) การสร้างโอกาสให้ไทยมีฐานตลาดรถยนต์ ZEV ทั้งในและต่างประเทศที่ใหญ่มากพอ และ 2) การสร้างโอกาสให้เกิดห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ ZEV ที่ครบวงจรมากที่สุดในประเทศ ซึ่งทั้ง 2 องค์ประกอบหลักนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่ผ่านมาไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดดังนี้
- การสร้างโอกาสให้ไทยมีฐานตลาดรถยนต์ ZEV ทั้งในและต่างประเทศที่ใหญ่มากพอ
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันตลาดรถยนต์ ZEV ในประเทศของไทยรวมไปถึงตลาดส่งออกยังมีขนาดที่เล็กมาก และการผลิตเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ในประเทศที่ราว 1 ล้านคันต่อปีอาจไม่เพียงพอต่อระดับการผลิตที่จะเกิด Economies of Scale ดังนั้นหากจะผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายที่ไทยกลายมาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ZEV ล้วนในปี 2578 ก็จำเป็นต้องสร้างฐานตลาดต่างประเทศคู่ขนานไปกับตลาดในประเทศด้วย โดยมีแนวทางที่เสนอแนะดังต่อไปนี้
- สำหรับตลาดรถยนต์ ZEV ในประเทศ นั้น นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องระดับราคารถยนต์กลุ่ม ZEV ในประเทศที่ลดลงมาใกล้เคียงกับราคารถยนต์ที่ใช้น้ำมันมากขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้ตลาดเติบโตได้อย่างดีแล้ว แนวทางกระตุ้นให้ตลาดขยายตัวได้อย่างดีอีกทาง คือ การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ผ่านการขยายโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางต่างจังหวัดนอกพื้นที่เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะเข้าถึงผู้ซื้อส่วนใหญ่ของประเทศที่มีรถยนต์เพียง 1 คันต่อครอบครัวได้โดยตรง ขณะเดียวกันมาตรการที่เร่งให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนรถยนต์ใหม่เร็วขึ้น นอกจากจะช่วยสร้างยอดขายรถยนต์ ZEV ให้เร่งขึ้นในระยะสั้นได้แล้ว ในระยะยาวยังช่วยรักษาปริมาณยอดขายรถยนต์ในประเทศให้คงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคได้
- สำหรับตลาดส่งออกรถยนต์ ZEV พบว่าประเทศส่งออกหลักของไทยปัจจุบันยังมีจำนวนไม่กี่ประเทศที่ตั้งเป้าหมายยกเลิกจำหน่ายรถยนต์ใช้น้ำมันในอนาคตแล้ว โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในทวีปยุโรปและอมเริกาเหนือ และไทยเองก็ยังไม่มีการทำ FTA ร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนให้กับไทยเมื่อเทียบกับเวียดนามประเทศคู่แข่ง ขณะที่ในบางตลาดส่งออกอย่างบางประเทศในกลุ่มอาเซียน ตะวันออกกลางและแอฟริกายังมีความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีแหล่งน้ำมันในประเทศ การใช้ ZEV จึงอาจต้องใช้เวลานานกว่า
สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ไปประเทศคู่ค้าไทยที่มีแผนยกเลิกจำหน่ายรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน
ดังนั้น หากไทยต้องการขยายโอกาสส่งออกรถยนต์ ZEV เข้าไปรุกตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงตลาดใกล้เคียงที่อาจมีการตั้งเป้าหมายยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ใช้น้ำมันเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ไทยอาจจำเป็นต้องเร่งพิจารณาเจรจา FTA กับประเทศที่เป็นตลาดหลักรถยนต์ ZEV เช่น FTA ไทย-อียู และ CPTPP เป็นต้นเพื่อขยายโอกาสในการส่งออกรถยนต์ ZEV ของไทยในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ
- สร้าง Product Champion ตัวใหม่ สำหรับกลุ่มรถยนต์ ZEV โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถปิกอัพ 1 ตัน เป็นต้น ซึ่งไทยมีคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่นนอกเหนือจากระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่รองรับอยู่แล้ว อีกทั้งจะเป็นที่สังเกตได้ว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กมักจะเป็นสินค้าที่นำไปบุกตลาดส่งออกใหม่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นประเภทรถที่เข้าถึงกลุ่มคนในระดับ Mass ได้มากกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ขณะที่ฝั่งรถปิกอัพนั้น ปัจจุบันค่ายรถต่างๆอยู่ในช่วงการพัฒนารถปิกอัพกลุ่ม ZEV และยังไม่มีฐานผลิตที่ชัดเจนสำหรับรถกลุ่มดังกล่าว ดังนั้นหากไทยกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆที่ผลิตรถประเภทดังกล่าวก็จะมีโอกาสในการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
- การสร้างโอกาสให้เกิดห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ ZEV ที่ครบวงจรมากที่สุดในประเทศ
โดยเฉพาะเมื่อชิ้นส่วนทั้งระบบส่งกำลังและระบบไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนรถยนต์ใช้น้ำมันแต่เดิมซึ่งมีจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของชิ้นส่วนทั้งหมด และเคยเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ค่ายรถต่างมาลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นชิ้นส่วนประเภทใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ ZEV ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและปัจจุบันผู้ประกอบการในไทยยังไม่สามารถพัฒนาได้ถึงระดับที่มีศักยภาพมากพอจะรองรับต่อความต้องการของค่ายรถต่างๆในประเทศได้ ทำให้ไทยยังจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนชิ้นส่วนในกลุ่มนี้เข้ามาในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยหากไทยไม่สามารถดึงการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนใหม่นี้เข้ามาได้ สัดส่วนมูลค่าเพิ่มจากการผลิตรถยนต์ ZEV ในไทยอาจลดเหลือเพียง 35% ของมูลค่ารถยนต์ 1 คัน จากเดิมที่การผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันในไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ถึงมากกว่า 80%
อนึ่ง แม้ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ ZEV อย่างแบตเตอรี่ ไทยน่าจะมีโอกาสเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานได้เพียงขั้นตอนการประกอบแบตเตอรี่ให้อยู่ในรูปแพ็ก (Battery Pack) จากการขาดปัจจัยสำคัญทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับผลิตเซลล์แบตเตอรี่และแร่สำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบ แต่ไทยอาจเน้นการดึงดูดชิ้นส่วนสำคัญอื่นที่อยู่ในระบบขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า อินเวอร์เตอร์ On Board Charger ชิ้นส่วนระบบไฟฟ้าอื่นๆและเซ็นเซอร์ต่างๆ รวมไปถึงระบบเบรกแบบรีเจนเนอเรทีฟ เป็นต้น เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนด้านอื่นให้ครบวงจรในประเทศแทน ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานขึ้นในไทยอย่างยั่งยืน อาจจำเป็นต้องมีการสนับสนุนผู้ประกอบการในไทยให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถขึ้นรองรับชิ้นส่วนใหม่เหล่านี้ที่มีการใช้ระดับเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วย
โดยสรุป แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศของไทยล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนให้กับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง และอาจเกิดผลดีต่อการดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์ ZEV เข้าประเทศในอนาคตไม่น้อย ในจังหวะที่หลายประเทศฐานการผลิตรถยนต์พยายามแข่งขันกันขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์กลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คู่แข่งในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกเปลี่ยนหน้าตาไปจากเดิมมาก หลังมีคู่แข่งรายใหม่ๆเข้ามาแข่งขันในตลาดรถยนต์ ZEV เพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มที่น่าสนใจ คือ คู่แข่งที่มาจากอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยไม่ควรมองข้าม แต่ควรแสวงหาโอกาสในการดึงดูดการลงทุนและสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ZEV ในประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดและสร้างโอกาสจากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
……………………….
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย