โพลชี้ปชช.ส่วนใหญ่สนใจติดตั้ง “แผงโซลาร์เซลล์” หลังเจอปัญหาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น จี้รัฐบาล-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมี “โปรโมชั่นพิเศษ” เพื่อเร่งติดตั้งให้ปชช. เพราะทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับอาจารย์วงศกร อยู่มาก หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และดร.ธนเสฏฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล เปิดเผยถึงผลสำรวจเรื่อง “ประชาชนสนใจโซลาร์เซลล์” ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 เม.ย.-2 พ.ค.67 จากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 บาท ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,330 หน่วยตัวอย่าง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.98 สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต ในขณะที่ร้อยละ 26.02 ระบุว่าไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.77 ระบุว่าสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต เนื่องจากช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 16.09 ระบุว่าสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเนื่องจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นพลังงานสะอาด และร้อยละ 7.14 ระบุว่าสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในขณะที่กลุ่มที่ไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต ร้อยละ 46.39 ระบุว่าไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเนื่องจากไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัย รองลงมา ร้อยละ 32.78 ระบุว่าไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง ร้อยละ 7.90 ระบุว่าไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเนื่องจากความแข็งแรงของหลังคารับน้ำหนักแผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้ ร้อยละ 7.37 ระบุว่าไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเนื่องจากพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีไม่เพียงพอ และร้อยละ 5.56 ระบุว่าไม่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเนื่องจากเรื่องการขออนุญาตกับทางการไฟฟ้า
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 บาท ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ในกลุ่มผู้สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเกี่ยวกับประเภทของแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 41.05 ระบุว่าประเภทของแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง คือแผงโมโนคริสตัลไล (ราคาสูง คุณภาพสูง) รองลงมา ร้อยละ 31.65 ระบุว่า ประเภทของแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง คือ แผงโพลีคริสตัลไลน์ (ราคาปานกลาง คุณภาพดี) และร้อยละ 27.30 ระบุว่า ประเภทของแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง คือ แผงโซลาร์เซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (ราคาถูก คุณภาพพอใช้)
ท้ายที่สุดเมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 บาท ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ในกลุ่มผู้สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคตเกี่ยวกับระบบของแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 58.20 ระบุว่าระบบของแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง คือระบบไฮบริด (ผสมระหว่างระบบ Off Grid และ On Grid คือมีการใช้ไฟจากการไฟฟ้าและแบตเตอรี่) รองลงมา ร้อยละ 25.71 ระบุว่าระบบของแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง คือระบบออนกริด (ใช้ไฟกลางวันใช้ไฟร่วมกับการไฟฟ้า) และร้อยละ 16.09 ระบุว่าระบบแผงโซลาร์เซลล์ที่สนใจติดตั้ง คือระบบออฟกริด (ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า มีแบตเตอรี่สำรองไฟเวลากลางคืน ใช้ในสวน ไร่นา ดอยสูง)
สำหรับความเห็นของอาจารย์วงศกร อยู่มาก หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ให้ความเห็นเพิ่มเติมในกรณีนี้ว่า ปัจจุบันการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับราคาในอดีต ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และสภาวะสงครามในขณะนี้ แผงโซลาร์เซลล์มีการบำรุงรักษาไม่ยุ่งยาก มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ในสภาวะสังคมที่มีค่าครองชีพสูง ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากเมื่อเทียบกับบ้านที่ใช้ไฟจากการไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ในระยะยาวในเรื่องของอายุการใช้งาน การดูแลรักษา และความคุ้มค่าในระยะยาว
ขณะที่ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า จากผลโพลของสยามเทคโนโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเดือดร้อนค่าครองชีพและเหตุผลจำเป็นของประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ประชาชนสนใจการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ควรมีโปรโมชั่นพิเศษและมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วนในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับครัวเรือนของประชาชนผู้สนใจโดยเน้นไปที่ความยั่งยืนของ 3 เร่งของกลไกสำคัญ ได้แก่ สภาพแวดล้อม (Environment) สังคม (Society) และธรรมาภิบาล (Government) ที่เป็นองค์ประกอบของ ESG เร่งขับเคลื่อนผลกระทบที่ดีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้มีส่วนได้เสียที่เปราะบางกลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่ม นั่นคือ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศทั้งภาคครัวเรือนและการเกษตร
“ผลที่จะตามมาคือ สภาพแวดล้อมจะดีขึ้นด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดก๊าซเรือนกระจกของชั้นบรรยากาศโลก ช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global Warming) และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ และส่วนของสังคมที่ช่วยเยียวยาประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่เดือดร้อนจากโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า และการกำกับกิจการไฟฟ้าที่ดีมุ่งสู่การตอบสนองความต้องการความสนใจของประชาชน ด้วยสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) และความมั่นคงยั่งยืน (Sustainability) ในการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าและห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของกิจการไฟฟ้าของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง” ผศ.ดร.นพดล กล่าว