สถานะกองทุนน้ำมันฯเริ่มผวกหัว เงินไหลเข้าเป็นบวก 9 ล้านหลังปรับดีเซล และไม่ได้มีข้อเสนอที่จะปรับเพดานการปรับราคาดีเซลให้สูงกว่า 33 บาทต่อลิตร
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ล่าสุดสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเป็นบวกโดยมีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 9 ล้านบาทต่อวันแล้ว หรือเดือนละ 270 ล้านบาท เนื่องจาก 3 ปัจจัย คือ การลดการชดเชยราคาดีเซล 2.ปริมาณการใช้ดีเซลลดลง และ 3.ราคาแอลพีจีตลาดโลกลดลง ทำให้ภาระการชดเชยแอลพีจีลดลง ดังนั้น ณ ตอนนี้กองทุนฯจึงยังไม่ได้มีข้อเสนอที่จะปรับเพดานการปรับราคาดีเซลให้สูงกว่า 33 บาทต่อลิตร
ดังนั้นสถานะกองทุนน้ำมัน ( ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 ) จะยังติดลบ 111,345 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,655 ล้านบาท ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลว ( LPG ) ติดลบ 47,690 ล้านบาท แต่คาดว่าสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น และสามารถชำระเงินกู้ได้หมดภายใน 5 ปี ที่ผ่านมากองทุนฯ มีหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเริ่มชำระเงินต้นคืนงวดแรกในเดือน พฤษภาคม 2567
ในส่วนของปัจจัยการชดเชยราคาดีเซล ปัจจุบันอัตราการชดเชยลดเหลือ 1.40 บาท/ลิตร หลังจากมีการปรับลดการชดเชย โดยล่าสุดน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาท/ลิตร เป็น 32.94 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่วางกรอบการตรึงราคา น้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ดังนั้นในช่วงเวลานี้จะมีการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกไปก่อนจะยังไม่มีข้อเสนอปรับเพดานราคาดีเซลให้เกิน 33 บาทต่อลิตร เพราะการปรับราคาดีเซลแต่ละครั้งต้องพิจารณาผลกระทบต่อค่าครองชีพ
ส่วนปัจจัยที่ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลลดลง มาจากการที่ราคาดีเซลทยอยปรับขึ้นเกิน 30 บาท ทำให้ผู้ใช้รถยนต์บ้านที่หันมาซื้อรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซลก่อนหน้านี้ต้องลดการใช้น้ำมันดีเซลลง เห็นได้จากตัวเลขการรายงานของกรมธุรกิจพลังงานที่พบว่าการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 71.06 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.8% โดยน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.64 ล้านลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ลดลงมาอยู่ที่ 0.36 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตร/วัน
ทางด้านข้อเสนอการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลงนั้น เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงและหารือกระทรวงการคลังหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของประเทศ และการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยปัจจุบันมีการเก็บภาษีสรรพสามิตนำมันดีเซลอยู่ 5.99 บาทต่อลิตรส่วนดีเซล บี 20 อยู่ 5.1530 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด 7 พ.ค.67 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลง เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ 20 เม.ย.– 31 ก.ค. 2567 และตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567