กฟผ.ลุยธุรกิจให้บริการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT และวางระบบ BackEN EV ครบวงจร รองรับรถ EV เติบโตก้าวกระโดด
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่าการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ.จึงเข้ามาสร้างความมั่นใจให้คนไทยเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้พัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT ที่มีการขยายครอบคลุมทั่วพื้นที่ประเทศไทย การพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA ที่ปรับปรุงตามความต้องการของลูกค้า สามารถจองคิวได้ มีสถานีในเครือข่ายเพิ่มขึ้น และได้พัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า BackEN EV แพลตฟอร์มที่จะช่วยบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยงาน EGAT EV Business Solutions กล่าวว่า เพื่อรองรับตลาด EV กฟผ.จึงได้เข้ามาเป็นผู้ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT และให้บริการระบบ BackEN EV และใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน EleXA ซึ่งมีภาคธุรกิจให้ความสนใจจำนวนมาก เนื่องจากความเชี่ยวชาญและมาตรฐานของกฟผ. รวมถึงการบอกต่อจากผู้ใช้งาน เช่น ระบบการจัดคิวในการชาร์จที่ให้ผู้ที่จองคิวผ่านแอพฯต้องอยู่ใกล้สถานี เป็นต้น ทำให้ไม่เกิดปัญหา และความแออัดในสถานี
ในส่วนของ สถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA มีการการติดตั้งแล้ว 160 แห่ง ใน 59 จังหวัด มีแผนที่จะติดตั้งให้ถึง 364 แห่งภายในสิ้นปี 2567 นี้ ในจำนวนนี้ประมาณ 80% เป็นระบบชาร์จเร็ว (DC Fast Charge) และอีก 20% เป็นระบบชาร์จแบบปกติ ( Normal Charge ) โดยปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาคุยกับ กฟผ. ไม่ต่ำกว่า 20 รายต่อวัน สำหรับการลงทุนหากเป็นสถานีชาร์จขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนประมาณ 2-3 แสนบาท
“ประสบการณ์ของ กฟผ. ในการพัฒนาธุรกิจสถานีชาร์จแบบครบวงจร ทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ EV การเลือกสถานที่ตั้งสถานีชาร์จ การประเมินพฤติกรรมการชาร์จของลูกค้าที่เหมาะสมกับขนาดของสถานีและชนิดของเครื่องชาร์จ การบริหารจัดการรายได้ ทำให้การทำธุรกิจสถานีชาร์จเป็นเรื่องง่าย และยังสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับธุรกิจเดิม”
สำหรับการให้บริการระบบ BackEN EV มีผู้ประกอบการเข้ามาเป็นลูกค้าแล้วกว่า 70 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหาร 90% เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ขณะที่อีก 10% เป็น มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการ Fleet รถ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการ Fleet รถ เป็นกลุ่มที่เติบโตสูง เพราะการใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันช่วยลดต้นทุนได้อย่างดี
นายพิชิต กล่าวว่า กฟผ.เข้ามาให้บริการทั้งรับติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าและช่วยวางระบบให้ เพื่อจะติดตามข้อมูลและพฤติกรรมการใช้งานรถ EV ที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วย ทั้งรถยนต์ส่วนตัว และรถที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เตรียมระบบไฟฟ้ารองรับอย่างเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันเราพบว่าพฤติกรรมของการชาร์จไฟฟ้า หากเป็นรถยนต์ส่วนตัวจะชาร์จที่บ้าน และมักจะชาร์จหลัง 4 ทุ่ม เพื่อให้ค่าไฟถูกลงตามอัตรา TOU (Time of Use Tariff) หรืออัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างตามช่วงเวลา ซึ่งเป็นอัตราที่การไฟฟ้าจูงใจให้ใช้ไฟฟ้าในเวลาอื่นที่ไม่ใช่ช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ซึ่งในอนาคตหากมีรถ EV เข้ามามากขึ้นหลักล้านคัน แล้วชาร์จพร้อมกันจะกระทบกับระบบไฟฟ้าในภาพรวมได้ ดังนั้นตอนนี้หลายหน่วยงานจึงอยู่ระหว่างการหารือ เพื่อปรับช่วงเวลาตามมาตรการ TOU เพื่อกระจายการชาร์จไฟฟ้าไปในช่วงเวลาอื่นๆด้วย
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ผ่านมา กฟผ.ได้จัดงาน “EGAT EV the Journey to Business Solutions” เปิดบ้านให้ผู้สนใจลงทุนธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมให้คำปรึกษา และให้บริการระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า BackEN EV ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 200 คน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ บางกรวย จ.นนทบุรี