วันศุกร์, พฤศจิกายน 15, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightนัดประชุม‘กบง.’ทบทวนหลักเกณฑ์‘กกพ.’ ล้ม‘โควตา’ซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

นัดประชุม‘กบง.’ทบทวนหลักเกณฑ์‘กกพ.’ ล้ม‘โควตา’ซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

“พีระพันธุ์” เตรียมประชุมกบง.ทบทวนหลักเกณฑ์กกพ.ให้โควตารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2,180 เมกะวัตต์ เสนอเปิดรับซื้อทั่วไปทั้ง 3,600 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการตั้งกระทู้สดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 ต.ค.67 เรื่องการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม 3,668.50 เมกะวัตต์ โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ที่ตั้งคำถามถึงการกำหนดโควต้าให้สิทธิ์กับผู้ประกอบการรายเดิม ไม่มีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปนั้น ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นการด่วนแล้ว เพื่อทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยจะหารือใน กบง.ให้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปทั้ง 3,668.50 เมกะวัตต์ จากเดิมกำหนดจะรับซื้อเป็นการทั่วไป จำนวน 1,488.5 เมกะวัตต์ อีก 2,180 เมกะวัตต์ เปิดโควต้าให้สิทธิ์กับผู้ประกอบการรายเดิม ที่ไม่ได้รับการพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้ารอบแรก จํานวน 198 ราย เป็นโครงการจากพลังงานลมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ ตามด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์

แหล่งข่าว กล่าวย้ำว่า กระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้า เป็นอำนาจของคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งทำตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ กบง. การเปิดโควตารับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.66 และ กบง.วันที่ 31 ก.ค.67 ให้ดำเนินการ เนื่องจากต้องเร่งผลิตไฟฟ้าสีเขียวรองรับความต้องการของนักลงทุน

โดยทั้ง 198 รายนั้น ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แล้วแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายในรอบแรกแล้ว แต่เนื่องจากทั้ง 198 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ มาแล้ว และเพื่อย่นระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จึงเปิดให้ทั้ง 198 รายมายื่นขายไฟฟ้ากับ กกพ.ในรอบนี้ใหม่ ซึ่ง กกพ.ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 21 ก.ย.67 ที่ผ่านมา และขณะนี้มีผู้มาทยอยยื่นขายไฟฟ้าแล้ว ดังนั้นหากนายพีระพันธุ์จะเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ ให้เปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป ต้องหารือในที่ประชุมและเป็นมติ กบง. ซึ่งจริงๆ แล้วนายพีระพันธุ์ได้รับรู้เรื่องนี้มาตลอด

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ รวมขยะอุตสาหกรรมอีก จำนวน 100 เมกะวัตต์นั้นได้ทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าไปเกือบทั้งหมดแล้วไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากจะเกิดข้อพิพาทกับเอกชนได้

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ตอบกระทู้สดเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกมองว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ และเคยนำเข้าที่ กบง.แล้ว แต่น่าจะเกิดความผิดพลาด จึงทำให้เกิดการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต่างไปจากนโยบาย ซึ่งได้สั่งการให้แก้ไขไปแล้ว และกำลังจะมีการประชุม กบง. เพื่อแก้ไขในเรื่องนี้

“กกพ. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้นเป็นองค์กรอิสระ มีสถานะคล้ายกับ กสทช. ทางกระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา หรือไม่สามารถไปสั่งได้ แต่ก็ได้ใช้อำนาจตามที่มีอยู่โดยทำหนังสือทักท้วงพร้อมกับขอให้ทบทวนโครงการไปยัง กกพ. แล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยเบื้องต้นได้รับการแจ้งว่าที่มาที่ไปทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากการทำมติที่ประชุม ซึ่งจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป และเมื่อมีการทบทวนในเรื่องนี้ให้รอบคอบและถูกต้องแล้ว ก็จะรายงานไปยังกพช.ต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 เดือน และขอยืนยันว่าตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ มีการกำกับติดตาม อย่างใกล้ชิดตลอดมา” นายพีระพันธุ์ กล่าว

สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 และมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วนั้น นายพีระพันธุ์ ระบุว่า ได้มีการสอบถามและหารือไปยัง กกพ.อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีการดำเนินการใดๆ อาจจะส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำรวมถึงหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ขอยืนยันว่าท่านใดมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ตนยินดีที่จะรับฟังพร้อมเดินหน้าปฏิบัติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ขอยืนยันว่า เบื้องหลังของตนเองมีแค่ผลประโยชน์ของประชาชน ไม่มีกลุ่มทุนอะไรที่สามารถเข้ามาแทรกแซง ตนจะดำเนินการแก้ไข โดยไม่บ่ายเบี่ยงว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคใดในสมัยใด ขอให้ท่านมั่นใจว่า จะทำให้เต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง

สำหรับกรณีมีการกล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าแพงนั้น นายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า ในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการผลิต ประเภทแรก คือส่วนที่ผลิตจากแสงแดดมีการรับซื้อที่ 2.16 บาทต่อหน่วย และประเภทที่ผลิตจากพลังงานลมมีการรับซื้อที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วน ไม่ได้มีราคาสูงกว่าการรับซื้อเดิม จึงขอยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ ไม่ได้แพงเกินจริงแต่อย่างใด

สำหรับคำถามที่ว่า ในเมื่อจะมีการดำเนินการในส่วนของการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยตรง หรือ Direct PPA แล้วทำไมต้องมีโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่  นายพีระพันธุ์ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า Direct PPA หรือการรับซื้อไฟฟ้าตรง กับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน (RE) นั้นเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน 

ในส่วนของ Direct PPA เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง ระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง แต่สำหรับ RE เป็นส่วนที่ส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีการจัดเก็บ UGT (Utility Green Tariff) หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ควบคู่มาด้วย โดย REC นี้ผู้ประกอบการจะใช้เป็นเอกสารประกอบเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการกำหนดกำแพงภาษี

การดำเนินการของ กกพ. จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของประเทศ เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น จะไม่สามารถแยกออกได้ว่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยใดมีที่มาจากแหล่งใด ซึ่งมิใช่แค่ UGT แม้กระทั่ง Direct PPA ก็ไม่สามารถแยกได้ เว้นแต่เอกชนจะดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เอกชนหลายรายพิจารณาใช้สายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน. ทดแทน 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img