ไทยออยล์ ฟันธงปี 68 ปัญหาต้องจบ ผู้ UJV รับเหมาโครงการ CFP ต้องส่งมอบงานตามสัญญา วางทางเลือกทางกฎหมายกรณีส่งมอบไม่ได้เตรียมฟ้องค่าเสียหาย ย้ำผู้รับเหมาหลักขาดสภาพคล่องไม่จ่ายค่าจ้างผู้รับเหมาช่วงเป็นเหตุแรงงานประท้วงต่อเนื่อง ส่งผลโครงการล่าช้า 3 ปีแถมทำ IRR โครงการต่ำลงเหลือ 7% จากเดิม 12% เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 6.3 หมื่นล้านบาท ย้ำยังไงต้องเดินหน้าโครงการต่อปี 71 เสร็จแน่
นายบัณฑิต ธรรมประจําจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project :CFP) ต้องล่าช้าออกไป 3 ปีคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571 ซึ่งความล่าช้าทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องขอกรอบวงเงินลงทุนเพิ่มจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เพื่อใช้ในโครงการ CFP ประมาณ 63,028 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท โดยบริษัทฯได้วางทางเลือกไว้แล้วซึ่งเป็นสิทธิทางกฎหมายที่จะดำเนินการกับ UJV ผู้รับเหมาหลัก ซึ่งประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. , Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. หากปี 2568 ไม่สามารถส่งมอบโครงการตามสัญญา พร้อมฟ้องร้องค่าเสียหาย โดยจะหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการต่อไป เนื่องจากโครงการ CFP จะต้องเดินหน้าต่อให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก UJV ขาดสภาพคล่องไม่ชำระเงินให้ผู้รับเหมาช่วงซึ่งมีหลายบริษัทกระทบคนงาน จนทำให้เกิดการประท้วงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยออยล์ได้ชำระเงินตามสัญญาให้ UJV ซึ่งเป็นคู่สัญญามาโดยตลอด โดยคาดว่าในปีหน้าเมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้ว โครงการจะใช้เวลาก่อสร้างอีก 3 ปีแล้วเสร็จในปี 2571 ซึ่งยอมรับว่าทำให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ลดลงจาก 12% เหลือ 7%
“ขั้นตอนที่เหลือเป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชื่อมต่อระบบของโครงการฯ ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนโดยเฉพาะงานก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่ ที่ทําหน้าที่เปลี่ยนนํ้ามันเตาและยางมะตอยให้เป็นน้ำมันที่มีมูลค่ามากขึ้นอย่างนํ้ามันอากาศยาน และดีเซลเป็นงานยาก เพราะทำในหน่วยกลั่นเดิมซึ่งมีพื้นที่จำกัด ต้องใช้คนทำงาน และอุปกรณ์เยอะตอนนี้คืบหน้าไปได้เพียง 72% เนื่องจากปัญหาการหยุดงานของกลุ่มบริษัทรับเหมาช่วง ทําให้การดําเนินโครงการต้องสะดุดเหลือคนงานไม่กี่พันคนจากที่ต้องใช้กว่า 20,000 คน ซึ่งการเอาคนงานกลับมาทำงานต่อไม่สามารถทำได้ทันทีต้องใช้เวลาและงบประมาณเพิ่ม ”

สำหรับประมาณ 63,028 ล้านบาทที่บริษัทฯจะใช้ในการดําเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมนั้น มีแผนจัดหาเงินทุนประกอบด้วย 1) เงินสดคงเหลือและกระแสเงินสดจากการดําเนินงานของบริษัทฯในปี 2025-2027 2) การออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งพิจารณาหาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น การออก ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยืนยันว่าไม่มีแผนการเพิ่มทุน จากการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างโครงการในครั้งนี้
“สำหรับการขอวงเงินลงทุนโครงการเพิ่มโครงการ CFP นั้นเป็นการขอกรอบไว้เท่านั้นอาจจะใช้น้อยกว่านี้ โดยต้องนำไปใช้ในเรื่องต่างๆ อาทิ ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าประกันภัย ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าคลังเก็บอุปกรณ์ ค่าที่พักคนงาน ค่าที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งเราจะใช้งบให้น้อยที่สุดอย่างระมัดระวัง”
ทั้งนี้โครงการ CFP ต้องเดินหน้าต่อไปเพราะได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมากแล้ว และมีความสำคัญต่ออนาคตของไทยออยล์ เพราะการที่เรามีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และมีกำลังผลิตน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซลมากขึ้น จะทำให้มีมาร์จินมากขึ้น มีเงินสดหมุนเวียนมากขึ้นมีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น
อนึ่ง โครงการ CFP ไทยออยล์จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้โครงการนี้ได้วางเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566