ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) โดยจะต้องปรับเป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็น 45-50% จากที่แผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ปี 2561-2580 ตั้งเป้ามีสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
การจัดทำแผนพลังงาน PDP 2022 จะต้องสอดคล้องกับกรอกแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ขณะนี้กระทรวงพลังงานโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินการกำหนดกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ
ทั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่า กรอบแผนพลังงานแห่งชาติจะแล้วเสร็จกลางเดือนมิถุนายน 2564 พร้อมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 จากนั้นก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะจัดทำแผนแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 พร้อมประกาศเป็นนโยบายต่อไป ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการจัดทำแผน PDP 2022
โดยแผน PDP 2022 นั้น นายกุลิศ ระบุว่า “จะมีการมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือ ที่เรียกกันว่าโซลาร์เซลล์ ทั้งในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูปท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ การส่งเสริมพลังงานลม เชื้อเพลิงชีวมวล เชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงขยะ รวมทั้งพลังงานน้ำ”
ซึ่งหากกระทรวงพลังงานประกาศเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในแผน PDP 2022 ก็จะส่งผลให้การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศกลับมาบูมอีกครั้ง หลังงจากที่เงียบหายไปนาน ซึ่งผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าทั้งหลายเล็ก รายใหญ่ต่างก็เตรียมพร้อมชิงส่วนแบ่งพลังงานทดแทน
อย่างไรก็ตามปลัดกระทรวงพลังงานยืนยันว่า “อนาคตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนการลงทุนจะถูกลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันมีต้นทุนการติดตั้งต่อเมกะวัตต์เฉลี่ยในระดับ 30 ล้านบาท เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนก็มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ขณะที่การแข่งขันก็จะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง”
นอกจากนี้แล้ว แผน PDP 2022 ยังต้องพิจารณากำหนดให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างใหม่จะไม่มีเชื้อเพลิงถ่ายหิน ยกเว้นโรงไฟฟ้าแม่เมาะส่วนขยาย 600 เมกะวัตต์ที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านั้น โดยโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนสร้างใหม่กำหนดจะต้องเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด อาจจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทน บริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ ภายใต้แข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และในอนาคตอันใกล้ก็จะเปิดเสรีเต็มรูปแบบในระยะที่ 3 พร้อมกันนี้การจัดทำ แผน PDP 2022 ยังต้องพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ด้วย โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเพราะเป็นพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นได้กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่มาจากก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ร้อยละ 55 และถ่านหิน อยู่ที่ร้อยละ 18 ซึ่งแผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคตะวันออกที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติเข้าระบบในปี 2576 และ 2580 ในปริมาณ 1,700 เมกะวัตต์
เช่นเดียวกับภาคใต้ที่จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เข้าระบบในปี 2577 และ 2578 ในปริมาณ 1,700 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. จะทำให้การจัดทำ แผน PDP 2022 ที่จะมาใช้แทน PDP 2018 Rev.1 ต้องมีการตัดส่วนที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ออกไปทั้งหมด