วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightโควิด-19 ฉุดความต้องการใช้พลังงานปีนี้โตแค่ 0.1%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โควิด-19 ฉุดความต้องการใช้พลังงานปีนี้โตแค่ 0.1%

เมื่อช่วงปลายปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าในปี 2564 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5

ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ก็ได้พยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจว่าการใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.2 ถึง 1.9 แต่ด้วยจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่แปรผันไปตามปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลกระทบต้องการใช้พลังงานโดยหลังจากผ่านมาครึ่งปีแรก 2564 พบว่าสถานการณ์แพร่ระบายของไวรัสโควิด -19 และมีท่าว่าจะในช่วงครึ่งปีหลังจะยังไม่คลี่คลาย สนพ.จึงได้ปรับตัวเลขการพยากรณ์แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นของปี 2564 ใหม่

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. ระบุว่า แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศไทยปี 2564 ต้องปรับตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับการประมาณการเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.2 เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การอัดเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

ดังนั้นจากตัวเลขการประมาณการณ์ดังกล่าว สนพ. จึงได้ประเมินความต้องการพลังงานขั้นต้นของปี 2564 ใหม่ โดยว่าอยู่ที่ระดับ 2,015 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปี 2563 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้การใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมัน

อย่างไรก็ตามเมื่อแบ่งเป็นแต่ละชนิดนั้นพบว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และ 1.8 ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ตามคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปีก่อน ส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนที่สามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ค่อนข้างสูงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป. ลาวที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยการใช้น้ำมันดีเซล คาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.0 การใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลงร้อยละ 4.7 การใช้น้ำมันเตาคาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.7 และการใช้ LPG ในส่วนภาคยานยนต์ที่ไม่รวมการใช้ใน Feed stocks ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.4 เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 และการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐมีการประกาศยกระดับมาตรการล็อคดาวน์ และการประกาศเคอร์ฟิว

ส่วนความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานในปี 2564 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 38.5 หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศห้ามบินและรับส่งผู้โดยสารในประเทศจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ประกอบกับข้อจำกัดของการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่ความต้องการใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยการใช้ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และ 11.5 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของการผลิตสินค้าและการส่งออก

ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลงร้อยละ 24.0 จากการที่ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน ประกอบกับปริมาณรถยนต์ LPG ที่มีแนวโน้มลดลงและข้อจำกัดในการเดินทางในช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์ และการใช้เองลดลงร้อยละ 6.9

ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ปี 2564 คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ การใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหรรม และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งคาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องจากการที่ผู้ใช้ NGV เปลี่ยนกลับมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้ง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง

ส่วนไฟฟ้าปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 186,253 ล้านหน่วย ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ

ขณะที่สถานการณ์การใช้พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ในขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาครัฐมีมาตรการต่างๆ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการใช้น้ำมันในสาขาขนส่ง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img